“กบชายน้ำ” ของดีต้องมีเรื่องเล่า

ทุเรียนพันธุ์เต็งหนึ่งมีไม่กี่แห่ง ถ้าเป็นลุ่มน้ำบางปะกง ที่ยืนหนึ่งด้วยคะแนนเต็มสิบแบบไม่หักเลย คือ “กบชายน้ำ”
ขอบคุณภาพจาก บางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต

***ขอบคุณภาพจาก บางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต***

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงที่สุดในบรรดาผลไม้เมืองร้อน ชาวสวนทุเรียนมือฉมังตัดทุเรียนต้นเดียวก็ซื้อไอแผดได้สองเครื่องแล้ว หลายปีมานี้ชาวสวนกาแฟเวียดนามจึงพากันโค่นกาแฟ หันมาปลูกทุเรียนกันแทน แน่นอนว่าจีนคือตลาดหลัก แต่ปีนี้ทุเรียนไทยชอกช้ำเพราะความร้อนจัด ยอดส่งออกทุเรียนจากเวียดนามจึงแซงหน้าไทยเป็นครั้งแรก

ทุเรียนเวียดนามที่ส่งออก คือพันธุ์หมอนทอง พันธุ์เดียวที่ไทยที่ครองแชมป์มานานหลายปี แต่คอทุเรียนแท้ ย่อมรู้ว่าหมอนทองไม่ใช่เต็งหนึ่ง เพียงเป็น 1 ใน 4 สายพันธุ์ (หมอนทอง ก้านยาว ชะนี กระดุม) ที่ให้ผลผลิตสูง ติดผลง่าย เรียกว่าเป็นทุเรียนตลาด

ทุเรียนพันธุ์เต็งหนึ่งมีไม่กี่แห่ง ถ้าเป็นลุ่มน้ำบางปะกง ที่ยืนหนึ่งด้วยคะแนนเต็มสิบแบบไม่หักเลย คือ “กบชายน้ำ”

กบชายน้ำ เกิดจากการเพาะเมล็ด “กบแม่เฒ่า” ทุเรียนโบราณตระกูลกบดั้งเดิมจากนนทบุรี แล้วนำมาปลูกที่ปราจีนบุรี ปรากฏว่าได้ผลดี เวลานี้กลายเป็นเจ้าชายกบ ต้องสั่งจองล่วงหน้าด้วยราคาแพงตั้งแต่ติดลูกบนต้น ไม่งั้นอดกิน ต้นหนึ่งเจ้าของสวนจะเก็บไว้ไม่เกิน 30 ลูก

จุดเด่นของกบชายน้ำแห่งปราจีนบุรี คือ เปลือกบาง ผิวเปลือกสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม หนามถี่ เนื้อทุเรียนสีเหลือง หนา แห้ง เส้นใยน้อย และหวานมัน

แม้เราจะเก่งเรื่องการทำกล้าพันธุ์ และเป็นแหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพ เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง แต่ทุเรียนไม่ใช่ไม้ดั้งเดิม ถึงอย่างนั้นก็ปลูกในภาคกลางมานานกว่า 300 ร้อยปีแล้ว หลักฐานมาจากบันทึกของ “ลาลูแบร์” หัวหน้าคณะราชทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่กล่าวถึงทุเรียน ว่า…

“ดูเรียน (Durion) ชาวสยามเรียกว่า ‘ทูลเรียน’ (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้า ไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไป ก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีพูมาก แต่พูใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่า ยิ่งมีพูในน้อย ยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า 3 พู เลย” (ที่มา: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 28 เรื่องที่ 4 ทุเรียน)

แสดงว่ามีการปลูกทุเรียนในภาคกลางแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา

ทุเรียน
ทุเรียน

เส้นทางทุเรียนสู่เมืองสยาม

ทุเรียนเป็นพืชในวงศ์นุ่น-ทุเรียน (Bombaceaceae) (ชื่อสามัญว่า durian I ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio zibethinus) ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วแพร่กระจายไปทั้งภูมิภาคที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น เช่น ประเทศในแถบอาเซียน อินเดีย และศรีลังกา

มีการสันนิษฐานว่าทุเรียนแพร่เข้ามาในไทยสองเส้นทาง ทั้งสองเส้นทางล้วนชี้ว่ามาทางเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี

เส้นทางแรก เข้ามากับกองทัพในปี 2330 เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ยกไปตีเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี แต่ตีไม่สำเร็จเพราะเส้นทางทุรกันดาร ประกอบกับขาดเสบียงอาหาร เมื่อกองตระเวนออกหาอาหารมาเลี้ยงกองทัพแล้วพบทุเรียนป่า จึงลองนำมากิน ปรากฏว่าไม่เหลือ…ทุกคนติดใจในรสชาติ จึงนำพันธุ์ทุเรียนป่ากลับมาด้วย

มีหลักฐานพบต้นทุเรียนอายุกว่าร้อยปีที่ปลูกตามบ้านเจ้านายเก่าในกรุงเทพฯ สอดคล้องกับตำราแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 2451 กล่าวถึงย่านที่ปลูกทุเรียนขึ้นชื่อในกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านบางขุนนนท์ บางโคล่ และบางคอแหลม แต่ต้นทุเรียนเก่าแก่เหล่านั้นตายเพราะน้ำท่วมใหญ่สองเมื่อปี 2460 กับปี 2485

เส้นทางที่สอง เชื่อว่าทุเรียนเข้ามาจากเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรีเช่นกัน แต่ผ่านทางภาคใต้ โดยข้ามากับเรือสินค้าของพ่อค้าโปรตุเกสที่เดินเรือค้าขายบริเวณหัวเมืองมอญ ได้แก่ เมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี เมื่อราว 300 ปีก่อน ทำให้ทุเรียนแพร่หลายเข้าในแถบคาบสมุทรมลายู ปักหลักในนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญของคาบสมุทรมลายูตอนบน จากนั้นจึงค่อยเข้ามาถึงภาคกลาง

หลักฐานเส้นทางนี้ คือชื่อบ้านนามเมือง ได้แก่ บ้านบางตะนาวศรี จังหวัดนนทบุรี (ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี) ชุมชนนี้มีทั้งคนไทย คนมลายูปัตตานี และคนมอญ ที่เข้ามาอาศัยในช่วงเวลานั้น ชื่อเสียง “ทุเรียนเมืองนนท์” ก็ถือกำเนิดที่นี่

ทุเรียนที่ปลูกใน “สวนบางกอก” ยุคกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นพันธุ์ที่มาจากนครศรีธรรมราช มี 3 พันธุ์หลัก คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่สองครั้งดังกล่าว ทุเรียนในภาคกลางก็แทบสูญพันธุ์ไปเลย ชาวสวนบางกอกซึ่งเก่งในการทำกล้าพันธุ์ จึงหาเมล็ดทุเรียนมาเพาะแล้วทำกิ่งพันธุ์ ทำให้เกิดทุเรียนพันธุ์ใหม่มากมาย

ชื่อพันธุ์ทุเรียนมาจากไหน

การตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียนใหม่อาศัยหลักเกณฑ์หลายอย่าง

หนึ่ง-ตั้งชื่อตามลักษณะภายนอกของผล พวกนี้มักเป็นทุเรียนโบราณ เช่น พันธุ์กบ หรือถ้ามีก้านผลกว่าพันธุ์อื่น ก็ชื่อพันธุ์ก้านยาว พันธุ์ตะเข้ อีบาตร หอยโข่ง ฟักทอง กระดุมทอง อยู่ในเกณฑ์ข้อนี้

สอง-ตามลักษณะผลภายใน อันนี้พิจารณาจากสีเนื้อ ปริมาณเนื้อ และเมล็ด เช่น เนื้อสีเหลืองคล้ายดอกการระเกด ก็ตั้งชื่อว่า พันธุ์การะเกด พันธุ์กระเทย ก็คือเนื้อมาก เมล็ดลีบ พันธุ์จำปา คือเนื้อสีเหลืองจำปา พันธ์สารภี มีเนื้อสีเหลืองเหมือนดอกสารภี

สาม-ตามชื่อพันธุ์เดิมบวกกับชื่อคนเพาะ กลุ่มนี้เป็นทุเรียนที่ผสมใหม่ เช่น ทุเรียนกำปั่นเพาะโดยนายแพ ก็ตั้งชื่อว่า กำปั่นตาแพ กบเจ้าคุณ-เป็นทุเรียนพันธุ์กบที่พระยาดำเกิงรณภพเป็นผู้เพาะ กบพลเทพ-เจ้าคุณพลเทพเป็นผู้เพาะ กบตาขำ-ทุเรียนที่เพาะโดยนายขำ

สี่-ตามชื่อพันธุ์เดิมบวกกับพันธุ์ที่ผสมใหม่ เข่น กบใบไม้ กบกิ่งแข็ง กะเทยเหลือง ก้านยาวลูกใหญ่

ห้า-ตามชื่อสถานที่ที่ต้นแรกงอก คือเพาะขึ้นต้นแรกใกล้กับไม้อะไรก็อิงชื่อนั้น เช่น เพาะใกล้ต้นมะไฟ ก็เป็นพันธุ์ชายมะไฟ  ชายมังคุด

หก-ตามชื่อพันธุ์ดั้งเดิมบวกกับสถานที่ที่ต้นแรกปลูก เช่น เพาะได้ต้นแรกแถวตลิ่งชัน ก็เป็น กระปุกตลิ่งชัน คือมาจากพันธุ์กระปุกทองเพาะที่ตลิ่งชัน กบหลังวิหาร กบหน้าศาล กบชายน้ำ (ปลูกขึ้นดีตามริมน้ำ)

สุดท้าย-ตั้งตามอำเภอใจคนปลูก จึงพบว่ามีทุเรียนชื่อพันธุ์ไพเราะเพราะพริ้งมากมาย เช่น สายหยุด กลีบสุนทร จอมโยธา สาวชม ฯลฯ

ทุกวันนี้เรามีทุเรียนพันธุ์อยู่ราว 60-80 สายพันธุ์

เป็นผลไม้พิเศษจริงๆ เนื้อสัมผัสและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ ผลไม้ไหนก็ไม่หาญสู้ ราคายืนหนึ่งมาตลอด

“สตอรี่” ก็ยังยอมไม่เป็นรองใครอีกต่างหาก

TAGS #ทุเรียนปราจีนบุรี #ทุเรียนตระกูลกบ #กบชายน้ำ #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #แม่น้ำบางปะกง #แม่น้ำปราจีนบุรี #หาอยู่หากิน #กินตามน้ำ

แหล่งอ้างอิง

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4558746

https://www.duriannon.com/14595416/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C

https://www.opsmoac.go.th/nakhonsithammarat-article_prov-files-431291791827

https://www.silpa-mag.com/history/article_98741

https://www.thairath.co.th/news/local/east/1453435

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง และอีกมากมาย พร้อมสัมผัสธรรมชาติริมแม่น้ำ
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง แต่ข้อดีคือเคยราคาย่อมเยา และให้คุณค่าด้านโปรตีน แคลเซียม โอเมก้า ไม่แพ้กุ้ง
คำว่า “สลิด” เพี้ยนจากคำว่า “จริต” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ราชบริพารเรียกปลาสลิดว่า “ปลาใบไม้” เพื่อความสุภาพ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้
ลิ้มรสปลาแดดเดียวรสเลิศจากปากแม่น้ำบางปะกง และเรื่องราวของป้าเปรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปลาแดดเดียว เคล็ดลับความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร
มะระขี้นก เป็นสมุนไพรที่คนโบราณรู้จักใช้มาเป็นพันปีแล้ว มะระขี้นกช่วยลดน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่สอง (แบบไม่พึ่งอินซูลิน)
เรื่องราวของ “ลุงเบี้ยว” บรรจบ พรหมศิริ เป็นคนตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง คนประมงพื้นบ้านวัย 58 ปี จะออกเรือหาเคยแต่เช้าเป็นวิถีชีวิตริมแม่น้ำ