ทุเรียนพันธุ์ไหนอร่อยที่สุด?

ทุเรียนพันธุ์ไหนอร่อยที่สุด? คำตอบคือแล้วแต่คนชอบ! บทความนี้จะพาไปสำรวจโลกของทุเรียน ตั้งแต่ความชอบของคนกินแต่ละกลุ่ม ไปจนถึงเคล็ดลับการเลือกทุเรียนให้อร่อยถูกใจ พร้อมแนะนำแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดปราจีนบุรี แหล่งปลูกทุเรียนขึ้นชื่อของไทย อ่านต่อเพื่อค้นพบว่าทำไมทุเรียนถึงเป็นราชาแห่งผลไม้ และพันธุ์ไหนที่ใช่สำหรับคุณ!

ความอร่อยเป็นเรื่องของอัตวิสัย แล้วบางทีก็บวกภววิสัยเข้าไปด้วย

ทุเรียนที่เราว่าหอม มีไม่น้อยที่ได้กลิ่นแล้วพาลเป็นลม ดังนั้นถ้ามีคนถามว่าทุเรียนพันธุ์ไหนอร่อยที่สุด เซียนปลูกทุเรียนปราจีนอย่างเดชศักดิ์ บุญทาสิน สมญานาม “ศักดิ์ปากหมา” ย่อมให้คำตอบที่ไม่ธรรมดา

“คนกินทุเรียนมี 5 กลุ่มหลัก” เซียนทุเรียนเปิดประเด็นก่อนจะจำแนกการบริโภคทุเรียน 

“กลุ่มแรกเรียกว่า ‘สายหวาน’ กลุ่มนี้จะชอบพวงมณี หมอนทอง ‘สายมัน’ ชอบก้านยาว พวกตระกูลกบ ‘สายเบญจพรรณ’ กลุ่มนี้จะไม่ชอบทุเรียนตลาด แต่จะเสาะหาทุเรียนพันธุ์โบราณ เช่น ตระกูลกบต่าง ๆ อีรวง เป็นต้น” เดชศักดิ์เบรกไปอธิบายความหมาย “ทุเรียนเบญจพรรณ”

“ทุเรียนส่วนใหญ่เขาเรียกว่า ‘เบญจพรรณ’ หมายถึงกลุ่มพันธุ์ที่แตกสาแหรก เช่น กลุ่มพันธ์กบ ก็มีกบสุวรรณ กบแม่เฒ่า กบชายน้ำ กบมะไฟ กบเล็บเหยี่ยว แต่พวกหมอนทอง ก้านยาว ซึ่งไม่แตกสาแหรก ก็ไม่ใช่กลุ่มทุเรียนเบญจพรรณ”

กลับเข้าเรื่องคอทุเรียนต่อ “สายที่สี่ เรียกว่า ‘สายทั่วไป’ คือกินทุเรียนตลาด อะไรที่ออกมาเยอะ ๆ ในตลาด ราคาไม่สูงมาก สุดท้ายเรียกว่า ‘สายเหนียว’ คือ กินแต่ชะนีอย่างเดียวเลย อย่างอื่นไม่เอา เพราะชะนีเนื้อเหนียวหวาน สีเหลืองจัด”

กว่าสิบปีที่คลุกคลีกับทุเรียน เดชศักดิ์เดินทางไปชิมทุเรียนที่ว่าขึ้นชื่อแทบทุกแห่งแล้ว “ผมเดินทางไปกินทุเรียนต้นตำรับมาหมดแล้ว เบตงก็ไปชิมมูซานคิง* หนามดำ พวงมณี ชะนี ก้านยาว ไปกะปง จังหวัดพังงา ก็ไปชิมสาลิกา ไปเกาะช้าง จังหวัดตราด ก็ไปชิมชะนี”

(*ทุเรียนมูซานคิง เรียกหลายชื่อ เช่น มูซาคิง มูซานคิง เหมาซังคิง เหมาซานหว่อง เหมาซานหวัง เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศมาเลเซีย โดยการพัฒนาสายพันธุ์จากสถาบันวิจัยทางการเกษตรประเทศมาเลเซีย)

สรุปว่าพันธุ์ไหนเด็ดสุด?

“คุณชอบกินพันธุ์ไหน พันธุ์นั้นก็คืออร่อย อร่อยมันเป็นเรื่องของคุณ (เป็นอัตวิสัย) ทุเรียนที่ว่าอร่อยนั้นเกิดจากการสร้าง ‘สตอรี่’ ทั้งนั้นแหละคุณ ปั่นเป็นกระแสให้คนสนใจ อย่างมูซานคิงเป็นทุเรียนที่มาแรงเพราะสตอรี่เขาดี มาเลเซียเขานำเสนอเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ (เป็นภววิสัย) สิ่งเหล่านี้ผมเรียกง่าย ๆ ว่า ‘การโฆษณา’ แล้วการทำธุรกิจแบบนี้มันก็กลืนกินทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเดิม ๆ” เพราะวิจารณ์อะไรตรง ๆ แบบนี้ คนในวงการเลยมอบสมญานาม “ศักดิ์ปากหมา”

การลงทุนเชิงพาณิชย์เพื่อปลูกทุเรียนหลายร้อยไร่ในเวียดนามและลาว สร้างความกังวลว่าทุเรียนไทยจะแพ้ทางเหมือนคราวแพ้เรื่องข้าวหอมเวียดนาม

“ทุเรียนเวียดนามจะปลูกทางเวียดนามเหนือ คุณภาพสู้เราไม่ได้แน่ เพราะอากาศเย็น เช่นเดียวกับจีนที่ปลูกกันมากในมณฑลเหอหนาน ที่นั่นอากาศหนาวถึง 8 เดือน แต่ทุเรียนชอบอากาศร้อนชื้น ทุเรียนจะติดดอกในหน้าหนาว ซึ่งช่วงติดดอกใช้เวลาแค่ 10 วันเท่านั้น ที่เหลือต้องร้อนชื้นถึงจะโต ดังนั้นเวียดนามก็จะได้ในแง่จำนวนมาก แต่คุณภาพ (ความอร่อย) ไม่น่าสู้เราได้” เดชศักดิ์ฟันธง ทุกวันนี้เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับแปลงทุเรียนราว 200 ไร่ ในปราจีนบุรีและนครนายก 

“เวียดนามไม่ได้แข่งกับไทย (คุณภาพ) คนละเวที คู่แข่งเขาคือมาเลเซียมากกว่า” เซียนทุเรียนสรุป

ทุเรียนปราจีนบุรีให้ผลผลิตช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ปีหนึ่งได้กินแค่ครั้งเดียว และมีจำนวนไม่มาก เพราะสวนทุเรียนปราจีนส่วนใหญ่เป็นเกษตรปลอดภัย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเร่งผล แทบทุกแปลงได้รับมาตรฐาน GAP ต้นหนึ่งชาวสวนจะเก็บไว้ไม่เกิน 30 ลูก เพื่อการดูแลที่เหมาะสม แหล่งปลูกอยู่ในอำเภอเมือง กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ และนาดี

ถ้าตั้งใจไปชิมทุเรียนใน 5 อำเภอเป้าหมาย ลองเถลไถลต่อเพื่อไม่เสียเที่ยว

วัดแก้วพิจิตร อยู่กลางเมือง เป็นพระอารามหลวงอายุกว่าร้อยปี จุดเด่นคือพระอุโบสถที่มีความผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทย จีน ยุโรป และเขมร 

พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ในอำเภอเมือง มีแพทย์เฉพาะทางให้คำแนะนำการใช้ยาสมุนไพร ตัวอาคารสร้างแบบสถาปัตยกรรมสไตล์บาร็อค ตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำปราจีนบุรี 

แวะชมหิ่งห้อย สถานที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ดินแดนหิ่งห้อยนับแสน” ในสวนป่าของกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี ในอำเภอเมืองเช่นกัน ปกติจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป ช่วงเวลาที่เข้าชมคือ 18.30-20.30 น.

ถ้าเป็นสายแคมปิ้ง อาจสนใจกางเต็นท์ที่อ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ (อ่างเก็บน้ำเขาอีโต้) เขื่อนดินที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้อยู่เชิงเขาอีโต้ในเขตวนอุทยานน้ำตกเขาอีโต้ ในอำเภอเมืองปราจีนบุรี

วัดรัตนเนตรตาราม อยู่ในตำบลสำพันตา อำเภอนาดี จุดเด่นคือการนำเปลือกหอยมาใช้ตกแต่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม เช่น หอพระแก้ว 3 ฤดู 

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อทีใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย (ใหญ่ที่สุดคือแก่งกระจาน) กินพื้นที่ตั้งแต่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ไปจนถึงปักธงชัย วังน้ำเขียว และเสิงสาง สามอำเภอในนครราชสีมา ถ้าตั้งใจมาค้าง ก็น่าจะลองแอดเวนเจอร์ที่ “แก่งหินเพิง

ถ้าไปถึงประจันตคาม ที่เที่ยวส่วนใหญ่ก็เป็นแหล่งธรรมชาติ เช่น น้ำตกตาดหินยาว อยู่ทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ น้ำตกเหวอีอ่ำ งดงามด้วยม่านน้ำขนาดใหญ่ตกจากผาสูง 25 เมตร มีน้ำตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอหน้าน้ำหลาก น้ำตกธารทิพย์ จุดเด่นคือมีผลาญหินกว้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ ก่อนที่จะสายน้ำจะทิ้งตัวลงหุบด้านล่าง

ขอให้ “อยู่ดีกินดี” กับราชาผลไม้ที่ออกผลให้ชิมแค่ปีละครั้ง และเพลิดเพลินกับเส้นทางท่องเที่ยวด้วยความสุขใจนะครับ

TAGS #ทุเรียนปราจีน #ทุเรียนพันธุ์ไหนอร่อยที่สุด #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #แม่น้ำบางปะกง #แม่น้ำปราจีนบุรี #หาอยู่หากิน #กินตามน้ำ 

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง และอีกมากมาย พร้อมสัมผัสธรรมชาติริมแม่น้ำ
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง แต่ข้อดีคือเคยราคาย่อมเยา และให้คุณค่าด้านโปรตีน แคลเซียม โอเมก้า ไม่แพ้กุ้ง
คำว่า “สลิด” เพี้ยนจากคำว่า “จริต” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ราชบริพารเรียกปลาสลิดว่า “ปลาใบไม้” เพื่อความสุภาพ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้
ลิ้มรสปลาแดดเดียวรสเลิศจากปากแม่น้ำบางปะกง และเรื่องราวของป้าเปรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปลาแดดเดียว เคล็ดลับความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร
มะระขี้นก เป็นสมุนไพรที่คนโบราณรู้จักใช้มาเป็นพันปีแล้ว มะระขี้นกช่วยลดน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่สอง (แบบไม่พึ่งอินซูลิน)
เรื่องราวของ “ลุงเบี้ยว” บรรจบ พรหมศิริ เป็นคนตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง คนประมงพื้นบ้านวัย 58 ปี จะออกเรือหาเคยแต่เช้าเป็นวิถีชีวิตริมแม่น้ำ