บางปะกงแดดเดียว

ลิ้มรสปลาแดดเดียวรสเลิศจากปากแม่น้ำบางปะกง และเรื่องราวของป้าเปรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปลาแดดเดียว เคล็ดลับความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร
ปลาโอแดดเดียวทอด

ปลากุเลาตัวกำลังพอมื้อ เคล้าเกลือบาง ๆ ตากแดดเดียว ทอดในน้ำมันเดือดพอหนังตึง แต่เนื้อในนุ่ม กลิ่นหอม กินกับข้าวร้อน ๆ อร่อยแบบไม่ต้องเหยาะน้ำปลาเพิ่ม

ปลากุเลา (Threadfin fish, ชื่อวิทยาศาสตร์ Eleutheronema tebradactylum) เป็นปลาน้ำกร่อย อาศัยและหากินอยู่ตามหน้าดินโคลน พบมากในฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง

กุเลาแดดเดียวหากินยาก ส่วนใหญ่จะเป็นกุเลาตัวโตๆ ที่ดองเค็มจัดแบบที่เรียกว่าปลาเค็ม ตัวใหญ่ขนาดที่ว่าต้องออกทะเลใหญ่ ส่วนมากมาจากอ่าวไทยตอนใต้ แต่ที่บางปะกง กุเลาตัวไม่ถึงฟุต การถนอมอาหารแบบปลาแดดเดียวจึงเหมาะสุด และปลาแดดเดียวที่ยืนหนึ่งขึ้นชื่อในบางปะกงก็ต้องเป็นฝีมือของ “ป้าเปรม” ทองเปรม ชาญสมร มือแดดเดียวแห่งตำบลบางปะกง

ปลาแดดเดียวของป้าเปรมทำสดใหม่ทุกวัน ส่วนใหญ่จะทำส่งแม่ค้าในตลาดสด ร้านอาหาร หรือไม่ก็มีคนมารับไปแพคใส่ห่ออีกที ป้าไม่ถนัดเรื่องการแพคการส่ง ปลากุเลาทำสะอาด บั้งลำตัว หมักเกลือชั่วโมงครึ่ง จากนั้นล้างน้ำสะอาดสองครั้ง ผึ่งบนตะแกรงตากให้แห้งแค่ “แดดเดียว” เท่านั้น

“ถ้าแดดดี ๆ แดดเดียวก็แห้ง ถ้าแดดไม่ดีก็ต้องตากแดดเดียว แล้วเอาเข้าตู้อบ ตากสองวันไม่ได้ ปลาจะมีกลิ่น” กุเลาแดดเดียวของป้าเปรม นอกจากไม่มีกลิ่นตุสักนิด ยังให้รสชาติพอดี ไม่เค็มจัด

ปลาโอหวานแดดเดียว เป็นอีกอย่างหนึ่งในเมนูสร้างชื่อให้ป้าเปรม

มีดทำปลาคมกริบแล่เนื้อปลาโอออกทั้งสองด้าน กระดูกป้าจะเก็บไว้ให้คนเลี้ยงเป็ด เนื้อปลาโอฝานเป็นแผ่นไม่ให้ติดหนัง ถ้าตัวเล็กก็จะได้ด้านละ 3 ชิ้น ตัวใหญ่ได้ถึง 10 ชิ้น

“ปลาโอที่ทำนี่เป็นปลาอวนลอยจากบ้านเราเอง เนื้อจะนิ่ม ตัวเล็กแต่เนื้อมัน ไม่เหมือนปลาโอจากทะเลใหญ่ทางใต้แบบปลาโออินโดนีเซีย นั่นปลาโออวนดำ เนื้อจะแน่นแข็ง ทำแดดเดียวไม่อร่อย” 

ปลาโอที่แล่เสร็จจะนำไปหมักในน้ำปรุงที่ทำจากน้ำตาลทรายกับน้ำปลา ถ้าปลาตัวใหญ่ก็หมัก 10 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าตัวเล็กก็หมัก 5 ชั่วโมงครึ่ง เหตุใดจึงมีเศษ “ครึ่ง” ป้าไม่บอก ได้แต่อมยิ้ม นัยว่าเป็นเคล็ดลับความอร่อย น้ำหมักปลาใช้แค่สองครั้งแล้วต้องเปลี่ยนเพื่อคงรสชาติ เนื้อปลาโอแดดเดียวจะออกเค็มและหวานพอดี กินกับข้าวต้มลงตัวสุด ๆ ส่วนหนังปลาป้าจะเอาไปทอดกรอบใส่ถุงวางขาย คนชอบมีเยอะ ไม่เคยเหลือ

ปลาโอแดดเดียวรสหวานเค็ม ขายดีกว่าปลากุเลา บางวันป้าทำถึง 50 กิโลกรัมก็มีคนมารับไปหมด สิบกว่าปีที่ทำปลาแดดเดียวขาย ไม่ต้องห่วงเรื่องของเหลือค้างสต๊อก มีแต่ไม่พอขาย “มีมากก็ทำมาก มีน้อยก็ทำแค่น้อย ไม่สั่งเพิ่ม เพราะแรงทำก็มีกันแค่สองคน” ป้าเปรมเป็นแม่ค้าแนวศิลปิน ขายแบบไม่ง้อดีมานด์
อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงอาหารทะเล น้อยคนจะนึกถึงบางปะกง ภาพจำส่วนใหญ่อาหารทะเลมักมาจากทะเลใต้ หรือไม่ก็จังหวัดทางตะวันออกที่ติดทะเล

ทำไมอาหารจาก “ปากแม่น้ำบางปะกง” จึงมีรสชาติที่พิเศษแตกต่างจากที่อื่น?

ปากแม่น้ำ คือบริเวณอ่าวหรือพื้นน้ำชายฝั่งทะเลที่น้ำจืดและน้ำเค็มไหลเข้าหากัน และผสมกันจนค่าความเค็มบริเวณปากแม่น้ำค่อย ๆ เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับค่าความเค็มของมหาสมุทรในบริเวณนั้น
ปากแม่น้ำยังเป็นแหล่งกำเนิดของผลผลิตทางชีวภาพจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำทุกชนิด ตั้งแต่กุ้ง หอย ปู ปลา จนถึงโลมา ความหลากหลายของชีวิตทางทะเลที่พบในปากแม่น้ำ มักไม่ปรากฏในทะเลลึกไปจนถึงมหาสมุทร
ปากแม่น้ำบางปะกงเป็นหนึ่งในพื้นที่พิเศษนี้ อาหารจากปากแม่น้ำบางปะกงจึงมีรสชาติพิเศษที่แตกต่างจากอาหารทะเลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของสดหรืออาหารที่ผ่านการถนอมและแปรรูป บางปะกงยังอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ประหยัดค่าขนส่งอีกด้วย

TAG : #บางปะกงแดดเดียว #ปลากุเลาแดดเดียว #ปลาโอหวานแดดเดียว #ปากแม่น้ำบางปะกง #อาหารทะเลแปรรูป #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #กินตามน้ำ #อยู่ดีกินดีที่แม่น้ำบางปะกง

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง และอีกมากมาย พร้อมสัมผัสธรรมชาติริมแม่น้ำ
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง แต่ข้อดีคือเคยราคาย่อมเยา และให้คุณค่าด้านโปรตีน แคลเซียม โอเมก้า ไม่แพ้กุ้ง
คำว่า “สลิด” เพี้ยนจากคำว่า “จริต” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ราชบริพารเรียกปลาสลิดว่า “ปลาใบไม้” เพื่อความสุภาพ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้
มะระขี้นก เป็นสมุนไพรที่คนโบราณรู้จักใช้มาเป็นพันปีแล้ว มะระขี้นกช่วยลดน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่สอง (แบบไม่พึ่งอินซูลิน)
เรื่องราวของ “ลุงเบี้ยว” บรรจบ พรหมศิริ เป็นคนตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง คนประมงพื้นบ้านวัย 58 ปี จะออกเรือหาเคยแต่เช้าเป็นวิถีชีวิตริมแม่น้ำ
ทุเรียนพันธุ์ไหนอร่อยที่สุด? คำตอบคือแล้วแต่คนชอบ! บทความนี้จะพาไปสำรวจโลกของทุเรียน ตั้งแต่ความชอบของคนกินแต่ละกลุ่ม ไปจนถึงเคล็ดลับการเลือกทุเรียนให้อร่อยถูกใจ พร้อมแนะนำแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดปราจีนบุรี แหล่งปลูกทุเรียนขึ้นชื่อของไทย อ่านต่อเพื่อค้นพบว่าทำไมทุเรียนถึงเป็นราชาแห่งผลไม้ และพันธุ์ไหนที่ใช่สำหรับคุณ!