“ศักดิ์ปากหมา” ทุเรียนปราจีนแท้

จุดเด่น ทุเรียนปราจีนปล่อยให้สุกโดยธรรมชาติ ไม่บ่ม แปลงทุเรียนปราจีนแทบทุกสวนได้รับมาตรฐาน GAP เป็นเกษตรปลอดภัยที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเร่งผล
เดชศักดิ์ บุญทาสิน สมญานาม “ศักดิ์ปากหมา ทุเรียนปราจีนแท้”

ทุเรียนเป็นไม้ผลที่เอาใจยาก ถึงจะปลูกได้ทุกภาค แต่ไม่ใช่ทุกที่จะให้ผลผลิตคุณภาพ ปราจีนบุรีได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพแห่งหนึ่งจนได้ขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) (ทุเรียนปราจีนบุรีที่ได้รับ GI มี 7 สายพันธุ์ เป็นพันธุ์การค้า 4 สายพันธุ์ คือ ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง กับพันธุ์พื้นเมือง 3 สายพันธุ์คือ กบชายน้ำ ชมพูศรี และกำปั่น)

ภาพจำของคนทั่วไปคือ แหล่งทุเรียนดีๆมักอยู่ในเขตฝนชุกอย่างเช่นภาคตะวันออก แหล่งปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์ที่โด่งดัง คือระยอง หรือภาคใต้ตอนล่างก็มีชื่อเสียงหลายแห่ง ทั้งพังงาไปจนถึงยะลา ปราจีนบุรีแม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ฝนชุกเหมือนสองภาคดังกล่าว

“ทุเรียนปราจีนรสชาติดีเพราะความที่เป็นดินลูกรัง” เดชศักดิ์ บุญทาสิน สมญานาม “ศักดิ์ปากหมา ทุเรียนปราจีนแท้” เจ้าของสวนทุเรียน 5 ไร่ ในตำบลไม้เค็ด เปิดบทสนทนา

เดชศักดิ์บอกว่า ทุเรียนไม่ชอบน้ำ แต่ขาดน้ำไม่ได้ ถ้าน้ำขัง รากจะเน่า และโตช้า แต่ดินปราจีนบุรีเป็นดินลูกรังแดง ทำให้รากแทรกได้สะดวก น้ำไม่ขัง รากหายใจได้ดี “และแร่ธาตุในดินที่ปราจีนถือว่าดีมาก”

แหล่งปลูกทุเรียนในปราจีนบุรีอยู่ในพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อำเภอเมือง กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ และนาดี พื้นที่เหล่านี้สภาพดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นหินผุและศิลาแลง ทำให้ระบายน้ำสะดวก น้ำไม่ขังในเนื้อดิน การกระจายตัวของธาตุอาหารทั่วถึง ปริมาณน้ำฝนและความชื้นเหมาะสมพอดี

ตำบลไม้เค็ด อยู่ในอำเภอเมือง ที่นี่มีสวนทุเรียนขึ้นชื่อหลายแห่ง เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นหน้าผลไม้ของปราจีนบุรี โดยเฉพาะทุเรียน เท่ากับเป็นฤดูท่องเที่ยวเมืองปราจีน ผู้คนหลั่งไหลมาช็อปและชิมทุเรียนถึงสวน 

“ทุเรียนปราจีนดูแลไม่เท่าระยอง ที่นั่นเขาทำเชิงธุรกิจ ใช้ปุ๋ยอย่างดี แต่สวนทุเรียนปราจีนร้อยละ 80 เป็นเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตไม่ออกจำนวนมากเหมือนที่ระยอง” เดชศักดิ์บอก

กลับกลายไปว่านี่เป็นจุดเด่น ทุเรียนปราจีนปล่อยให้สุกโดยธรรมชาติ ไม่บ่ม การใช้สารเร่งผลจะทำให้เนื้อทุเรียนต่างจากการปลูกแบบเกษตรปลอดภัย คอทุเรียนจะรู้สึกได้เลย วิถีเกษตรเช่นนี้ทำให้แปลงทุเรียนปราจีนแทบทุกสวนได้รับมาตรฐาน GAP เป็นเกษตรปลอดภัยที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเร่งผล

ก่อนจะมาเป็นชาวสวนทุเรียน เดชศักดิ์เป็นพ่อค้าทุเรียนมาก่อน

“ผมเป็นคนนครนายก ภรรยาเป็นคนปราจีน แต่ก่อนผมค้าขายทุเรียน พอดีอาของภรรยาเขาทำทุเรียน เรียกว่าอยู่กับทุเรียนมาตั้งแต่เกิด ผมก็ไปช่วยแบกกระสอบตอนเขาตัดทุเรียน หัดรับทุเรียนก่อน จึงได้เรียนรู้การดูทุเรียนว่าแบบไหนได้อายุควรตัด สักพักอาก็ให้ลองตัด เป็นมีดสาม”

มีดหนึ่ง-กระบี่มือแรก ต้องเป๊ะว่าลูกไหนแก่พอดีตัด เพราะทุเรียนปราจีนไม่มีการบ่ม มีดสองเสี่ยงน้อยลง แต่ก็ถือว่ายากอยู่ดี ส่วนมีดสาม-สุดท้าย ไม่เครียด เพราะทุเรียนแก่ทั้งต้นแล้ว

“ตอนเริ่มทำสวนทุเรียน ก็อยากได้สวนเพิ่มไว้สำหรับส่งให้ลูกค้า สวนแรกที่ผมไปดูแลอยู่ที่กบินทร์บุรี มีทุเรียนประมาณ 200 ต้น อายุประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ทุเรียนกำลังจะตาย ผมก็เข้าไปฟื้น ใช้เวลาถึง 4 ปี ตอนนี้ทุเรียนงามมาก และทุเรียนอายุ 14 ปีถือว่าเป็นช่วงที่กำลังให้ผลผลิตที่ดี”

เซียนทุเรียนวัย 44 ปีบอกว่า ถ้าคิดในแง่การลงทุน 4 ปี ถือว่าไม่มีกำไร “แต่ที่นี่คือห้องเรียนของผม ทุกสิ่งที่เป็นความรู้ในการทำงานกับทุเรียนคงได้มาจากการลองผิดลองถูกที่นี่” 

นอกจากมีสวนทุเรียนเองแล้ว ประสบการณ์สิบปียังทำให้เดชศักดิ์สามารถเหมาตัดทุเรียนได้หลายสวน และ “คอนซัลท์” ให้สวนทุเรียนอีก 6 แห่ง ทั้งในปราจีนบุรี และนครนายก รวมแล้วนับร้อย ๆ ต้น

การเป็นที่ปรึกษาเรื่องทุเรียนนี่เอง เป็นที่มาของสมญานาม “ศักดิ์ปากหมา” คือเป็นคนพูดจาขวานผ่าซาก ไม่ต้องมัวออมน้ำใจใคร  

กลับกลายไปว่านี่เป็นจุดเด่น พอเปิดร้านขายทุเรียน ก็ต่อท้ายอีกนิดว่า “ทุเรียนปราจีนแท้” แค่นี้ก็ไม่มีใครลืมลง

แวะชิมทุเรียนร้าน “ศักดิ์ปากหมา” ได้ที่ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี 

โทร. 061-356-6916  facebook: ร้านศักดิ์ปากหมา-ทุเรียนปราจีนแท้

TAGS #ศักดิ์ปากหมาทุเรียนปราจีนแท้ #ทุเรียนปราจีน #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #แม่น้ำบางปะกง #แม่น้ำปราจีนบุรี #หาอยู่หากิน #กินตามน้ำ

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง และอีกมากมาย พร้อมสัมผัสธรรมชาติริมแม่น้ำ
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง แต่ข้อดีคือเคยราคาย่อมเยา และให้คุณค่าด้านโปรตีน แคลเซียม โอเมก้า ไม่แพ้กุ้ง
คำว่า “สลิด” เพี้ยนจากคำว่า “จริต” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ราชบริพารเรียกปลาสลิดว่า “ปลาใบไม้” เพื่อความสุภาพ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้
ลิ้มรสปลาแดดเดียวรสเลิศจากปากแม่น้ำบางปะกง และเรื่องราวของป้าเปรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปลาแดดเดียว เคล็ดลับความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร
มะระขี้นก เป็นสมุนไพรที่คนโบราณรู้จักใช้มาเป็นพันปีแล้ว มะระขี้นกช่วยลดน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่สอง (แบบไม่พึ่งอินซูลิน)
เรื่องราวของ “ลุงเบี้ยว” บรรจบ พรหมศิริ เป็นคนตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง คนประมงพื้นบ้านวัย 58 ปี จะออกเรือหาเคยแต่เช้าเป็นวิถีชีวิตริมแม่น้ำ