เมื่อ 3-4 ปีก่อน มีเวทีหนึ่งชื่อว่า วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม กับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี มีผู้แทนจากชุมชนตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี กับชุมชนตำบลเขาดิน และ ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าร่วมเสวนากัน สามชุมชนในสองจังหวัดนี้มีพื้นที่ติดกันและอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง
งานเสวนานี้มีการยกเรื่อง “ขนมจาก” มาคุยกัน มีการนำเสนอไอเดียว่าชาวบ้านเขาดินควรใช้โอกาสการเกิดขึ้นของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี สร้างสตอรี่ขนมจากแนวใหม่เป็นการเพิ่มมูลค่า
นวัตกรรมขนมจากที่เสนอคือ แทนที่จะห่อด้วยใบจากแบบเดิมๆ ควรขยายไปสู่การทำแบบทองม้วนสดของจังหวัดกาญจนบุรี หรือทำเป็นแม่พิมพ์รูปทรงใหม่ๆ เพราะทุกวันนี้หาขนมจากกินยาก ต้องมาถึงแหล่งจึงจะหาซื้อได้ ควรจะดีไซน์แพคเกจจิ้งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ดูอย่างข้าวหลามหนองมน เมื่อก่อนยาวเป็นศอก เดี๋ยวนี้ก็มีข้าวหลามช็อต
สี่ปีผ่านไป ไอเดียนี้ก็ยังนิ่ง หรือหากมีใครริทำขึ้นมาก็น่าจะไปไม่ไกลเกินปากซอย เหตุผลเดียวคือ ขนมจาก มันต้องห่อใบจากเท่านั้น กลิ่นหอมของใบจากที่เป็นเอกลักษณ์ คือเสน่ห์ของขนมจาก การแกะขนมจากที่ห่อด้วยใบจากก็ทำให้เราได้สัมผัส
คุณค่าของแพคเกจจิ้งธรรมชาติบ้าง เพราะขนมที่ขายทุกวันนี้ไม่ห่อด้วยวัสดุธรรมชาติแล้ว แทบทุกอย่างอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ขนมจากเป็นขนมพื้นบ้านโบราณในแถบลุ่มน้ำบางปะกง โดยเฉพาะชุมชนที่พึ่งพาป่าจาก ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว มักใช้ข้าวเหนียวดำ ใส่มะพร้าวทึนทึกที่ขูดหยาบๆ และน้ำตาลมะพร้าวกับเกลือเล็กน้อย เสร็จแล้วห่อด้วยใบจาก จบด้วยไม้กลัด แล้วย่างไฟอ่อน ได้กลิ่นหอมของใบจากเป็นอันว่าขนมกำลังสุก ย่างต่อให้ใบจากไหม้เล็กน้อยถึงจะอร่อยจริง เพราะแป้งจะแห้งกำลังดี แกะกินแล้วไม่เหนียวติดมือ
การใช้ข้าวเหนียวบวกมะพร้าวกับน้ำตาลทำขนม เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนในแถบเอเชียอาคเนย์ จึงไม่แปลกที่เราจะพบขนมจากในทุกที่ที่ผู้คนพึ่งพาป่าจาก จากขนมกินกันเองในบ้านก็ขยับมาเป็นสินค้าที่ทำรายได้ อย่างที่ตำบลบางด้วน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นป่าจากผืนใหญ่ที่สุดในสมุทรปราการ ขนมจากก็เป็นโอท็อปขึ้นชื่อที่คนไปเที่ยวงานพระสมุทรเจดีย์ต้องหิ้วกลับบ้าน
แต่ถ้าพูดถึงดงขนมจากแท้ๆ ขายทุกวันแบบไม่ง้อเทศกาลงานใหญ่ก็ต้องมาที่ฉะเชิงเทรา ขนมจากมากมายกว่าสิบเจ้าตั้งขายอยู่บริเวณถนนเทพคุณากรซึ่งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง และเป็นที่ตั้งของวัดโสธรวรารามวรวิหาร จนได้สมญานามว่าเมืองขนมจาก และในบรรดาร้านที่ตั้งแถวยาวเหยียด ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ ร้านขนมจากแม่เล็ก อันนี้เคลมได้เต็มปากว่า “เจ้าแรก” จริง เพราะล้ำด้วยสูตรมะพร้าวน้ำหอมที่คิดค้นคนแรก และเป็นเจ้าแรกที่ขายขนมจากในแปดริ้วมานานกว่า 50 ปี
“แม่เล็ก” มักจะเล่าให้ลูกค้าฟังว่า สูตรมะพร้าวน้ำหอมเป็นตัวช่วยให้รสชาติขนมจากหอมโดยไม่ต้องปรุงแต่งเพิ่ม แต่นานวันเข้าก็มีคนทำตาม แม่เล็กจึงเน้นการใช้วัตถุดิบที่ดี และปรุงแบบมือเติบ คือหนักมะพร้าวอ่อน เมื่อนำไปย่างไฟ กลิ่นใบจากที่โดนความร้อนทำปฏิกิริยาลูกโซ่กับส่วนผสมส่งกลิ่นหอมกวักเรียกลูกค้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสักการะ “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ขนมจากแม่เล็กเลยขายดี บางวันขายได้ถึง 4,000 ห่อ
คนไทยบางทีก็เส้นตื้นเรื่องชื่อ เชื่อเรื่องมงคลนาม กินขนมจากด้วยกันก็กลัวว่าจะต้องจากกัน เลยมีแม่ค้าหัวใสที่ตลาดอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปลี่ยนชื่อขนมจากเป็น ขนมพบรัก เพื่อให้ขายดีขึ้น มี “สตอรี่” ให้คนซื้อไปฝากกันได้สนิทใจ ทำนองเดียวกับเรียก แห้ว ว่า สมหวัง นั่นเอง
เอกลักษณ์ของขนมจาก นอกจากห่อด้วยใบจากแล้ว ก็ต้องกินใหม่ๆ แล้วการหากินได้เฉพาะแหล่งก็ยังเชื่อมโยงกับเรื่องท่องเที่ยว ของบางอย่างก็รุ่มรวยเสน่ห์เพราะเอกลักษณ์ที่ว่านี่แหละ
#ขนมจาก #ใบจาก #ป่าจาก #ป่าชายเลน #แม่น้ำบางปะกง #อยู่ดีกินดี #กินตามน้ำ
อ้างอิง:
- ข้อมูลและภาพเรื่อง จากใจสตอรี่ใหม่ขนมอร่อยเมืองแปดริ้วใต้ร่มเงาอีอีซี จากเพจ Salika https://www.salika.co/2019/08/28/jaakjai-new-story-delicious-dessert-chachoengsao/