ปลาสลิด หรือ ปลาใบไม้ เป็นปลาน้ำจืดพันธุ์พื้นบ้านที่อยู่แถวลุ่มน้ำในภาคกลาง ชอบอาศัยบริเวณน้ำท่วมถึง หรือน้ำนิ่งที่มีพงหญ้าหรือพันธุ์ไม้น้ำ เพื่อใช้เป็นที่พักกำบังตัวและก่อหวอดเพื่อวางไข่ จึงมักพบปลาสลิดได้ตามท้องนา ร่องน้ำ อ่างเก็บน้ำ หนอง บึง สมัยก่อนหมู่บ้านไหนทำนาเป็นอันแน่ว่าไม่ขาดปลาสลิด
ปลาสลิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pectoralis ชื่อภาษาอังกฤษคือ Gourami ไม่พบหลักฐานที่มาชื่อ “ปลาสลิด” ทราบแต่เพียงคำว่า “สลิด” เพี้ยนจากคำว่า “จริต” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ราชบริพารเรียกปลาสลิดว่า “ปลาใบไม้” เพื่อความสุภาพ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้ (อ้างอิง: ตำนานปลาสลิด, เทคโนโลยีชาวบ้าน https://www.technologychaoban.com/folkways/article_61882)

คนสมัยนี้ไม่กินปลาสลิดแบบสด แต่กินแบบที่ตากแห้งหรือดองน้ำเกลือ เพราะให้กลิ่นหอมและรสอร่อยกว่า แต่คนสมัยก่อน ปลาสลิดสด ๆ จากบ่อเป็นกับข้าวที่คุ้นเคย ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการปิ้งให้หอม กินกับน้ำพริก เด็ดผักมาลวกจิ้มเป็นอันจบมื้อ หรือถ้ากินแบบขี้เหล้าหน่อยก็ต้มปลาสลิดน้ำใส ใส่ใบมะดันหรือลูกมะดันที่หาได้ตามท้องร่องสวน มะดันลูกงาม ๆ สัก 5-6 ลูก ตัดหัวท้ายแล้วบุบ ๆ พอแหลก หรือผ่าตามยาวก็ได้ โยนใส่หม้อเวลาน้ำเดือดตอนปลาย พอมะดันคลายความเปรี้ยวสักพัก ตักมะดันออกเพื่อไม่ให้รสเฝื่อน ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา ใส่พริกขี้หนูบุบลงไปเยอะ ๆ โรยผักชีฝรั่งตาม ซดร้อน ๆ คล่องคอ
ถ้าเป็นชุมชนคนจีนในแปดริ้วก็ยักกะสายการปรุงแบบอาหารจีนให้ปลาสลิดเลิศรสขึ้น เอาปลาสลิดที่ตากแดดเดียวพอหนังตึงมาทอดไฟอ่อน พอให้ไหม้นอกนุ่มใน พอได้กลิ่นไหม้ก็โยนกระเทียมกับรากผักชีลงไปผัดเคล้าให้ได้กลิ่นหอม เติมน้ำตาลมะพร้าว เหยาะด้วยน้ำส้ม ใส่น้ำลงไปหน่อยเพื่อให้มันจากปลาสลิดและกระเทียมลอยฟ่อง ซดน้ำรื่นคอ กินกับข้าวสวยก็เด็ด
การทอดอย่างนี้คนแต้จิ๋วเรียกว่า “เจียง” หมายถึงการทอดที่ใช้น้ำมันน้อย ทอดไฟอ่อน ๆ ของที่ทอดจะกรอบนอกนุ่มใน คนไทยหยิบมาใช้แล้วเสียงเพี้ยนเป็น “เจี๋ยน” อย่างทอดปลา แต้จิ๋วเรียกว่า “เจียงจื้อ” คนไทยสมัยก่อนก็เรียกว่า “เจี๋ยนฮื้อ” ปลาสลิด
เมนู “เจี๋ยนฮื้อปลาสลิด” ก็เลยกลายเป็นอาหาร “ถิ่น” อีกอย่างหนึ่งของคนจีนในบางปะกง
TAGS: #ปลาสลิด #เจี๋ยนฮื้อปลาสลิด #เจียงจื้อปลาสลิด #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #อยู่ดีกินดีที่แม่น้ำบางปะกง #กินตามน้ำ
ที่มา: ย่าประดับ ชีวิตหญิงนอกขนบและห้องเรียนการเรือนเคลื่อนที่, รังสรรค์ รัตนนิตย์. 2557
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_86195