แกงคั่วลูกจาก เมนูเพื่อรักษา ไม่ให้ “จาก” หายจากป่าชายเลน

จาก เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ใบจนถึงผล เป็นพืชเศรษฐกิจมานาน การรักษาป่าจากคือนำกลับเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตอีกครั้ง เช่น “แกงคั่วลูกจาก”
แกงคั่วลูกจาก เมนูอาหารจากป่าชายเลน ลุ่มแม่น้ำบางปะกง

จาก เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ใบจนถึงผล ผู้คนที่อยู่ในชุมชนปากแม่น้ำได้พี่งพาจากเป็นพืชเศรษฐกิจมานาน ป่าจากยังป่าจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน้ำกร่อย และเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของตลิ่ง การรักษาป่าจากก็คือนำจากกลับเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตอีกครั้ง อย่างการฟื้นเมนูอาหารเช่น “แกงคั่วลูกจาก”

ต้นจากเป็นพืชสกุลเดียวกับปาล์ม แต่เป็นปาล์มชนิดเดียวที่เป็นพืชป่าชายเลน และมีลำต้นอยู่ใต้ดิน ที่เราเห็นโผล่พ้นน้ำเป็นกอหนาทึบคือส่วนใบและช่อดอก

จาก (Mangrove palm, ชื่อวิทยาศาสตร์: Nypa fruticans) เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ใบจนถึงผล คนที่อยู่บริเวณดินดอนปากแม่น้ำสมัยก่อนได้พี่งพาจากเป็นพืชเศรษฐกิจ หลายครอบครัวส่งลูกเรียนจนจบเพราะดงจาก เฉพาะใบจากอย่างเดียวก็ใช้ประโยชน์ได้สารพัด ทั้งมุงหลังคา ทำหมวกกันแดดกันฝน มวนยาสูบ ห่อขนม ทำภาชนะตักน้ำ (หมาจาก) ทำเสวียนวางหม้อดิน ใบจากยังเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คนสมัยก่อนใช้ต้มน้ำดื่มแก้อาการท้องร่วง

โหม่งจาก
โหม่งจาก

มาถึงดอกกันบ้าง ช่อดอกเอามาลวกกินกับน้ำพริก หรือเอามาแกงก็เด็ด ก้านช่อดอกตรงที่เรียกว่า “งวงจาก” ปาดเอาน้ำหวานทำเป็นน้ำตาล (คนใต้เรียกน้ำผึ้งจาก) หรือนำไปหมักเป็นน้ำส้มสายชูใช้ปรุงอาหารอร่อยและหอมกว่าใช้น้ำส้มสายชูกลั่น อารมณ์เหมือนญี่ปุ่นใช้น้ำส้มยูซุปรุงอาหารยังไงยังงั้น

ผลจากมีลักษณะเป็นช่อ มีผลย่อยรวมกันเป็นกระจุก เจ้ากระจุกนี้เรียกว่า “โหม่งจาก” ผลแต่ละใบมีผิวเรียบเป็นมัน เวลาสุกแล้วเนื้อในเป็นเยื่อสีขาว ใส นุ่ม รสหวาน นิยมนำมาทำของหวาน เรียกว่าลูกจาก ต้นจากจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่อายุ 3-5 ปี แต่ลูกจะดกสม่ำเสมอตอนอายุ 7-8 ปี จากนั้นก็ให้ผลเรื่อยๆ เหมือนกับปาล์ม

ผลจาก ก่อนำมาแปรรูป
ผลจาก

แต่ลูกจากไม่ใช่ลูกชิดที่เรากินกับน้ำแข็งใส ลูกชิดนั้นเป็นผลของต้นต๋าว หน้าตาเหมือนลูกจากเพราะเป็นพี่น้องตระกูลปาล์มเหมือนกัน แต่ต๋าวเป็นจาวเหนือ ไม่ใช่คนน้ำกร่อยอย่างจาก ลูกจากรสชาติและหน้าตาคล้ายลูกชิด (ต๋าว) แต่คนทุกวันนี้ไม่น่าจะมีโอกาสลิ้มรสลูกจากเชื่อม (แบบลูกชิด) เพราะต้นจากหายไปจากป่าชายเลนเยอะ ด้วยความที่จากชอบขึ้นในดินเค็มที่เป็นโคลนตมริมแม่น้ำที่มีน้ำท่วมถึงตลอดเวลา ถ้าอยู่ริมตลิ่งแขนงจากเหง้าเดิมก็จะแตกขยายไม่หยุด ทำให้แม่น้ำลำคลองบางแห่งที่เคยกว้างค่อยๆ แคบเข้า เมื่อเวลามีการขุดลอกแม่น้ำคูคลองตามแผนพัฒนาของท้องถิ่น ป่าจากก็มักจะเจอบุ้งกี๋รถแบคโฮตักทิ้งเสมอ

เพื่อปกป้องป่าจากให้เป็นแหล่งอาหารพื้นบ้าน “โครงการ 304 กินได้” ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา (เพจ ๓๐๔ กินได้) ได้ฟื้นความรู้เรื่องสำรับอาหารโบราณที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือเมนูอาหารจากลูกจาก โดยนำมาปรุงเป็น “แกงคั่วลูกจาก” ฝีมือของป้าๆ แม่ๆ บ้านโพธิ์งาม ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

แกงคั่วลูกจาก วัตถุดิบ
แกงคั่วลูกจาก วัตถุดิบ

เมนูนี้ใช้ลูกจากอ่อนที่ยังไม่เป็นวุ้นใส มักใช้ลูกจากอายุประมาณ 4 เดือน มาหั่นและต้มหลายๆ น้ำจนหายฝาด เคล็ดลับคือใส่มะขามเปียกลงไปด้วยตอนต้ม จากนั้นนำมาแกงด้วยวิธีผัด คั่วพริกแกงกับหัวกะทิในไฟอ่อนค่อนข้างนาน ใส่เกลือป่นปรุงรสเค็ม ทำให้มีกลิ่น รส และความข้นละม้ายคล้ายแกงพะแนง เนื้อจากจะให้สัมผัสเหมือนเคี้ยวแกงคั่วกระท้อน

…ใครไม่อยากกินแกงคั่วก็เอาลูกจากอ่อนมาหั่นบางๆ ทำเมนูผักดองกินกับขนมจีน และเป็นผักแกง

แกงคั่วลูกจาก
แกงคั่วลูกจาก

ส่วนขนมลูกจากลอยแก้ว ที่นำไปเชื่อมคล้ายลูกชิดนั้นจะใช้ลูกจากอายุประมาณ 5-7 เดือน นำไปต้มกับน้ำตาล เกลือ และใบเตยเพิ่มความหอม เก็บแช่เย็นหรือใส่น้ำแข็งรับประทานหวานชื่นใจ

ป่าจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน้ำกร่อย นอกจากเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิดแล้ว ยังเป็นแหล่งหาอยู่หากินของคนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของตลิ่งได้อย่างดีอีกด้วย

การฟื้นวิถี #อยู่ดีกินดี แบบพื้นบ้านดั้งเดิม ก็เท่ากับการรักษาป่าจากให้อยู่กับป่าชายเลนต่อไป

TAGS: #ต้นจาก #ลูกจาก #ป่าจาก #ป่าชายเลน #แกงคั่วลูกจาก #ลูกจากลอยแก้ว #กินตามน้ำ

อ้างอิง:

  • ข้อมูลและภาพ สรรพคุณและประโยชน์ของต้น จากเพจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตสมุทรสงคราม https://skm.ssru.ac.th/th/news/view/a154
  • ข้อมูลและภาพ แกงคั่วลูกจาก จากเพจ The Cloud และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา, โครงการ 304 กินได้ https://readthecloud.co/scoop-13/

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง และอีกมากมาย พร้อมสัมผัสธรรมชาติริมแม่น้ำ
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง แต่ข้อดีคือเคยราคาย่อมเยา และให้คุณค่าด้านโปรตีน แคลเซียม โอเมก้า ไม่แพ้กุ้ง
คำว่า “สลิด” เพี้ยนจากคำว่า “จริต” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ราชบริพารเรียกปลาสลิดว่า “ปลาใบไม้” เพื่อความสุภาพ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้
ลิ้มรสปลาแดดเดียวรสเลิศจากปากแม่น้ำบางปะกง และเรื่องราวของป้าเปรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปลาแดดเดียว เคล็ดลับความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร
มะระขี้นก เป็นสมุนไพรที่คนโบราณรู้จักใช้มาเป็นพันปีแล้ว มะระขี้นกช่วยลดน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่สอง (แบบไม่พึ่งอินซูลิน)
เรื่องราวของ “ลุงเบี้ยว” บรรจบ พรหมศิริ เป็นคนตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง คนประมงพื้นบ้านวัย 58 ปี จะออกเรือหาเคยแต่เช้าเป็นวิถีชีวิตริมแม่น้ำ