จากไม่จาง ที่บางปะกง (ตอนที่ 1)

ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงมีพันธุ์ไม้มากกว่า 80 ชนิด แต่ชนิดที่คนใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน คือต้นจาก สมัย 40-50 ปีก่อน จากเป็นพืชที่ผูกพันกับทุกชีวิต อาหาร วัสดุมุงหลังคาบ้าน ฝาผนัง ของเล่นของเด็กน้อย รายได้ที่ส่งลูกเรียนจนจบ ล้วนได้มาจากพืชตระกูลปาล์มที่วิวัฒนาการจนปรับตัวอยู่ในน้ำเค็มชนิดนี้
ต้นจากที่ยังมีเหลือเป็นกลุ่มเล็กๆ บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง

ไม่ถึง 50 ปีที่แล้ว คนที่อยู่แถวบางปะกงเคยพายเรือใช้มือเปล่าช้อนกุ้งตัวโต ๆ ขึ้นมาเป็นอาหารได้ เวลานั้นธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า แนบแน่นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้ถูกจัดให้เป็น “ทรัพยากรธรรมชาติ” ที่มีกฎเกณฑ์กำหนดการเข้าถึงอย่างทุกวันนี้

ไม่ถึงชั่วอายุคน ๆ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจแผนใหม่ทำให้ธรรมชาติทุกอย่างเสื่อมโทรมและทวีความรุนแรงทุกนาที ทว่าเราต่างก็รู้อยู่แก่ใจและเศร้าใจว่ามนุษย์ไม่มีวันยอมถอยกลับไปสู่จุดเดิม ระบบเศรษฐกิจได้ดูดกลืนธรรมชาติทุกอย่าง แล้วคายออกมาป้อนเราให้สะดวกสบายในรูปของ “การบริโภค”

การบริโภคอย่างสะดวกสบายมีราคาที่ต้องจ่าย และมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถจ่ายในราคาที่เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ คนจนกับป่าจึงยังคงมีความผูกพันเพราะต้องพึ่งพาป่าเพื่อดำรงชีวิต นี่เป็นชีวิตที่ห่างไกลความสะดวกสบาย ทว่าเบิกบานด้วยอิสรภาพในใจ

ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงมีพันธุ์ไม้มากกว่า 80 ชนิด แต่ชนิดที่คนใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน คือต้นจาก สมัย 40-50 ปีก่อน จากเป็นพืชที่ผูกพันกับทุกชีวิต อาหาร วัสดุมุงหลังคาบ้าน ฝาผนัง ของเล่นของเด็กน้อย รายได้ที่ส่งลูกเรียนจนจบ ล้วนได้มาจากพืชตระกูลปาล์มที่วิวัฒนาการจนปรับตัวอยู่ในน้ำเค็มชนิดนี้

บทความวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากต้นจากในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา* ระบุว่า ทุกวันนี้ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรายังมีการใช้ประโยชน์จากต้นจากโดยแบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ หนึ่ง-ประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ได้แก่ การนำใบจากมาทำตับเพื่อมุงหลังคาและห่อขนมจาก ยอดจากสดใช้ห่อข้าวต้มมัด ยอดจากแห้งใช้ทำมวนยาสูบ ผลอ่อนทำขนมหวาน และสอง-ใช้ประโยชน์ในระดับครัวเรือน ได้แก่ ดอกจากอ่อนใช้ทำอาหาร ก้าน ใบทำไม้กวาด ก้านดอกทำแส้ไล่แมลงและไม้เกาหลัง ผลจากอ่อนใช้ทำอาหาร เปลือกของผลที่เหลือใช้ทำปุ๋ยหรือเป็นเชื้อเพลิง

ทุกส่วนของต้นจากสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งของกินและของใช้ ต้นจากยังสามารถแพร่พันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องลงทุนลงแรงปลูกเพิ่ม ทำให้การประกอบอาชีพของคนทำจาก ไม่ต้องอาศัยทุน มีแต่ลงแรง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พื้นที่ป่าชายเลนเริ่มลดลง ป่าจากซึ่งเคยหนาแน่นตามแนวลำคลองสาขา ยังถูกทำลายด้วยการขุดลอกคู คลอง การใช้ประโยชน์จากต้นจากลดลง เหลือเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังเห็นคุณค่าการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและสร้างรายได้

แต่ค่าครองชีพที่สูงอย่างทุกวันนี้ น่าสงสัยว่าการทำจากยังพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้จริง ๆ หรือ?

"ผู็เใหญ๋เอ" คุณรัชดาวรรณ ธรรมวิญญา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา  ย้อนอดีตผืนป่าจากและอาชีพที่หาอยู่หากินกับป่าจากให้ทีมงานอยู่ดี กินดี ฟัง
“ผู็เใหญ๋เอ” คุณรัชดาวรรณ ธรรมวิญญา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ย้อนอดีตผืนป่าจากและอาชีพที่หาอยู่หากินกับป่าจากให้ทีมงานอยู่ดี กินดี ฟัง

จากที่จางแล้ว

ชุมชนบ้านล่าง ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง เคยเป็นหมู่บ้านที่คนหาอยู่หากินกับป่าจาก ทุกวันนี้ไม่มีใครพึ่งพาป่าจาก ไม่มีคนหนุ่มสาวนั่งทำจากเหมือนเมื่อก่อน โรงงานอุตสาหกรรมดูดคนเข้าระบบด้วยผลตอบแทนสูงกว่าการทำจากอย่างเทียบไม่ได้

“ผู้ใหญ่เอ” คุณรัชดาวรรณ ธรรมวิญญา ผู้นำชุมชนบ้านล่าง (หมู่ 2) ย้อนอดีตที่เหลือแต่คำบอกเล่าว่า สมัยก่อนที่นี่เป็นป่าตะบูนกับป่าจาก ใครมีที่ดินของตัวเองก็เท่ากับมีป่าจากไว้ใช้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าไปตัดจาก เพราะงานตัดจากต้องอาศัย“สกิล” ที่บ่มไว้นาน ทั้งความรู้เรื่องจากและความรู้เรื่องธรรมชาติ “ยายจะเป็นคนเข้าไปตัดทางจากตอนน้ำลง ตัดเสร็จแล้วก็มัดรวมไว้ พอน้ำขึ้นก็เข็นเรือไปขนมัดจากออกมาไว้ที่โรงจาก”

“โรงจาก” เป็นพื้นที่โล่งกองทางจากไว้รอการทำเป็นตับมุงหลังคา ผู้หญิงมารวมกันทำจาก ผู้ชายออกทะเล รายได้หลักของชุมชนในสมัยนั้นคือประมงกับการเย็บตับจาก

“พวกผู้หญิงที่เสร็จงานบ้านก็มานั่งเย็บจาก ลูก ๆ ก็เล่นอยู่แถวนั้นแหละ เด็ก ๆ จะเอาหนังยางมารัดไม้ขนาบทำปืนยิงกัน ทำม้าขี่ อาบน้ำริมคลองก็ไม่ต้องมาอาบน้ำจืดซ้ำ ป่าริมน้ำคือบ้าน คือโรงเล่น โรงเรียน โรงทำงาน พอทำตับได้จำนวนมาก ๆ พ่อค้าก็จะมาขนใส่เรือล่องไปขายที่ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นต้นน้ำบางปะกง”

ป่าตะบูนและป่าจากหลายผืนในบ้านล่าง เปลี่ยนมือในช่วงทศวรรษ 2520 มีการกว้านซื้อไว้นานนับสิบปีก่อนจะทยอยสร้างโครงการต่างๆ สอดรับการสร้างถนนที่เชื่อมจังหวัด โดยตัดขวางคลองสามน้ำออกเป็นสองส่วน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ผุดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536-2537 ในจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทราทั้งหมด 1,352 แห่ง อยู่ในอำเภอบางปะกงถึง 587 แห่ง (ข้อมูลปี 2566) โรงงานอุตสาหกรรม และจำนวนแรงงาน – ฉะเชิงเทรา (citydata.in.th)

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ต้นจากตาย ด้วยสาเหตุจากการตัดถนนผ่าคลอง ทำให้น้ำเค็มขัง ไม่ขึ้นลงตามธรรมชาติ ผสมกับปัญหาน้ำเสียที่จากการถ่ายเทของโรงงานอุตสาหกรรม ป่าจากที่เคยแน่นทึบ ทุกวันนี้เหลือประมาณ 200 ต้น

“ป้าเขียว” คุณอาด นามสว่าง อดีตมือวางอันดับต้น ๆ การมัดตับจาก ที่วางมือเพราะความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและพื้นที่ทำกิน
“ป้าเขียว” คุณอาด นามสว่าง อดีตมือวางอันดับต้น ๆ การมัดตับจาก ที่วางมือเพราะความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและพื้นที่ทำกิน

“สมัยก่อนกฎเกณฑ์การทำโรงงานยังไม่เข้มงวด โรงงานบางแห่งไม่ยอมทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ปล่อยน้ำลงคลองเลย พอป่าจากเหลือน้อยลง คนทำก็น้อยลง ผู้หญิงก็ไปทำงานโรงงานแทน ประกอบกับมีวัสดุอื่นมาทดแทนการใช้ตับจาก ความต้องการก็น้อยลง ทั้งชุมชนหมู่ 2 เวลานี้เหลือบ้านที่ยังมุงหลังคาจากเพียงหลังเดียว”

“ป้าเขียว” คุณอาด นามสว่าง เคยเป็นคนทำจากที่วางมือแล้ว แต่บรรยากาศเก่า ๆ ในโรงจากเมื่อ 40 ปีก่อนยังแจ่มชัด โดยมีลูกสาว “พี่อ้วน” คุณรตนพร สะพง มาช่วยฟื้นความจำ

“ชาวบ้านจะนั่งเรียงกันเป็นแถวในโรงจาก ไม่ต้องออกทำงานข้างนอก เวลาทำงานก็ไม่ได้กำหนด พอส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จแล้ว ก็พากันหิ้วกระติกน้ำกับวิทยุทรานซิสเตอร์ นั่งทำไป ฟังนิยายไป ไม่ต้องดูเวลา พอนิยายเรื่องนี้มาก็เป็นสัญญาณบอกว่าลูกจวนเลิกเรียนแล้ว ก็ออกไปรับลูกกลับบ้าน”

“พี่อ้วน” คุณรตนพร สะพง ลูกสาวป้าเขียว สาธิตการใช้ส่วนต่างๆ จากต้นจากเพื่อใช้มัดขึ้นตับจาก
“พี่อ้วน” คุณรตนพร สะพง ลูกสาวป้าเขียว สาธิตการใช้ส่วนต่างๆ จากต้นจากเพื่อใช้มัดขึ้นตับจาก

พี่อ้วนบอกว่า สมัยก่อนบ้านใครมีที่ดินส่วนตัว ก็แปลว่ามีป่าจากในที่ดินของตัวเอง บ้านของพี่อ้วนก็เคยมีป่าจาก แม่จะเข้าป่าตัดจาก ส่วนพ่อออกทะเลหาปลา การตัดจากก็ใช้หลักการเดียวกับการตัดหน่อไม้ คือเหลือหน่อพี่ไว้เลี้ยงน้อง การตัดจากก็ต้องเหลือใบอ่อนไว้เลี้ยงน้อง ไม่ตัดจนหมดรอบต้น

การตัดจากต้องรอน้ำขึ้นน้ำลง คือตัดตอนน้ำลง มัดใบจากเป็นกอง ๆ ทิ้งไว้ แล้วค่อยเอาเรือไปขนตอนน้ำขึ้น “บางวันน้ำลงตอนมืด เราก็ต้องไปตัด ยุงก็เยอะ มันก็ลำบากนะ พอสนามกอล์ฟมาขอซื้อที่ก็พากันขาย บางคนไม่อยากขาย อย่างเช่นบ้านผู้ใหญ่เอก็จำใจต้องขาย เพราะบ้านเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลาง ที่รอบ ๆ ขายกันหมดแล้ว ถ้าไม่ขายก็ไม่มีทางเข้าออกบ้าน” พี่อ้วนเปิดใจ

ป้าเขียวบอกว่า การเย็บตัดจากมีอุปกรณ์ 3 ชิ้น หนึ่ง-ใบจาก สอง-ขนาบหรือทางจากที่ลิดใบออกทั้งสองด้านแล้ว จากนั้นเอาไปตากแดด เมื่อแห้งแล้วขอบขนาบจะม้วนงอเข้าหากัน มีช่องที่เหมาะเจาะในการเสียงใบจากเพื่อเย็บเรียงเป็นตับ และสาม-คล้า (ที่ลอกเปลือกแล้ว) ใช้เป็นเชือกเย็บใบจากที่เรียงเพื่อต่อให้เป็นตับ แต่สมัยนี้ใช้เชือกพลาสติก PP หรือเชือกฟาง เพราะไม่มีต้นคล้าแล้ว

ขนาบตับจากยาวประมาณ 1.10 เมตร ภาษาบ้าน ๆ เรียกว่า เรียกว่า สองศอกกับหนึ่งคืบ ที่กำหนดอย่างนี้เพราะเป็นขนาดที่เหมาะที่สุดในการซ้อนมุงหลังคา ขนย้ายก็ไม่เกะกะเกินไป ตับหนึ่งใช้ใบจากประมาณ 10 กว่าชุด ชุดหนึ่งมี 3 ใบ พอทำเสร็จก็ตากแดดจัด ๆ ประมาณ 4-5 วัน ห้ามโดนฝน ไม่อย่างนั้นจากจะบานแล้วก็นิ่ม “ตอนหน้าฝน คนทำจากก็ต้องวิ่งเอาเข้าร่มมาเก็บ ฝนหยุดก็เอาออกไปตาก” ป้าเขียวอธิบาย

การใช้ทางจากมาเป็นขนาบเรียงตับมีข้อดีตรงที่มอดไม่กิน ต่างจากการใช้ไม้ไผ่ทำตับจาก (ของบางชุมชน) ที่อาจเจอปัญหามอด ถ้าไม้ไผ่ไม่แก่ เนื้อไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่จัดยังคงมีปริมาณแป้งซึ่งเป็นอาหารโปรดของมอด

“สมัยแม่สาว ๆ ค่าแรงทำตับจากได้ร้อยละสิบสลึง (2.50 บาท) พอมายุคเรา ยุคผู้ใหญ่เอ ได้ร้อยละ 13 บาท คนที่คล่อง ๆ วันหนึ่งทำได้ 200 – 300 ตับ ยุคแม่ใช้วิธีขนตับจากใส่เรือไปขาย พอยุคเรามีถนนแล้วก็ขนใส่สิบล้อ ทำแล้วยังไม่ได้เงินเลย ต้องรอให้พ่อค้ามารับของก่อน แต่คนสมัยก่อนเขาอยู่ได้เพราะออกหาปลาทุกวัน” พี่อ้วนเล่า

รายได้จากการใช้ต้นจาก ไม่ได้มีแค่การนำใบมาทำตับมุงหลังคา แต่ยังมียอดอ่อน ซึ่งหมายถึงใบที่ยังไม่แตกเป็นทาง นำมาทำแห้งเป็นมวนยาสูบ ใบสดใช้ห่อข้าวต้มมัด ส่วนขนมจากนั้นต้องใช้ใบแก่ พอปิ้งไฟแล้วถึงจะหอม พอถึงหน้าลูกจาก ซึ่งออกประมาณปลายปี (เดือนพฤศจิกายน) ก็จะนำมาเชื่อมใส่โหลเก็บไว้เป็นขนมให้ลูก ๆ ได้กินนาน ๆ ชาวบ้านจะจำหน้าลูกจากออกได้แม่น เพราะตรงกับเทศกาลแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ

โหม่งจาก หรือ ทะลายจาก ชาวบ้านนิยมผ่าเอาเนื้่อข้างในของผลจากไปทำขนมลูกจากลอยแก้ว
โหม่งจาก หรือ ทะลายจาก ชาวบ้านนิยมผ่าเอาเนื้่อข้างในของผลจากไปทำขนมลูกจากลอยแก้ว

ลูกจากมีลักษณะเป็นทะลาย เรียกว่า โหม่งจาก โหม่งหนึ่งมีลูกจากย่อยกว่า 20 ลูก การตัดโหม่งจากก็ต้องรู้จักสังเกตสี “ถ้าตัดที่แก่มากก็กินสดไม่ได้ เอามาเชื่อมก็แข็งไป เขาก็จะเอามาปั่นละเอียดแล้วค่อยเชื่อมกับน้ำตาล อย่าว่าแต่สูตรนี้หากินยากแล้วเลย ลูกจากอ่อน ๆ หรือลูกจากเชื่อมก็หากินยากแล้ว” ป้าเขียวบอก

ดอกจาก (ส่วนที่อยู่กับโหม่งจาก) จะนำมาตัดเป็นท่อน ต้มหลาย ๆ น้ำให้หายฝาด แล้วค่อยฉีกเอามาแกง หรือฉีกแล้วม้วนเป็นคำ ราดกะทิ กินกับน้ำพริกเผาหรือน้ำพริกมะนาว เป็นกับข้าวพื้นบ้านที่ทุกวันนี้หากินยาก เช่นเดียวกับลูกจากเชื่อม

“ถ้าจะให้หาต้นจากตอนนี้ ก็ยังพอหาได้ แต่ไม่มีคนเข้าไปตัดแล้ว บางหมู่เขายังมีคนทำเป็นอาชีพ แต่หมู่ 2 ของเราไม่มีแล้ว” ป้าเขียวบอกว่าตัวเองก็เลิกทำเป็นรายได้นานแล้ว “สำหรับคนทำจากนะ เห็นจากตกโขมงไม่ได้ ต้องตัด ไม่งั้นจากไม่งาม”

ตกโขมง เป็นภาษาคนบางปะกง หมายถึง ใบจากแก่ที่ออกเหลืองและแห้ง ปล่อยทิ้งไว้ก็ทำให้ป่าจากดูโทรม “เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำ พอเห็นมันตกโขมงแล้วก็เสียดาย”

แม้จะไม่เหลือคนทำจากที่บ้านล่างแล้ว แต่จากก็ไม่เคยจางที่บางปะกง

TAGS #คนกับจาก #จากไม่จางที่บางปะกง #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

*บทความวิจัย: ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากต้นจากในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (Local Wisdom of Nipa Palm Utilization in Chachoengsao Province) บุญยอด ศรีรัตนสรณ์, วงเดือน ไม้สนธิ์. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์. 23 มีนาคม 2566

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/BSJ/article/download/258638/176621/1007868

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง