จุมพรวด ผู้หมุนเวียนสารอาหารในป่าชายเลน

ในประเทศจีนเมนูอาหารจากปลาตีน กำลังได้รับความนิยม เนื้อปลานุ่ม อุดมด้วยคุณค่าอาหาร เปรียบว่าเป็น โสมทะเล หรือ ไวอากร้าทะเล

ปลาจุมพรวด หรือ ปลาตีนจุดฟ้า

ที่มณฑลฝูเจี้ยน มีเมนูอาหารที่ปรุงจากปลาตีนกำลังได้รับความนิยม คนที่รับประทานบอกว่าเนื้อปลานุ่ม อุดมด้วยคุณค่าโภชนาการ เชื่อกันว่าถ้าให้ดีต้องเป็นปลาตีนแถบชายทะเลตำบลฝูอันเท่านั้น ถึงจะครบเครื่องอย่างที่ว่า ยิ่งถ้าจับในฤดูหนาว จะเป็นช่วงที่ปลามีกลิ่นคาวน้อย และไขมันต่ำ มีการเปรียบเทียบเมนูนี้ว่าเป็น โสมทะเล หรือ ไวอากร้าทะเล ฟังชื่อก็คงพอเดาได้ว่าความเชื่อเรื่องอาหารจานนี้เกี่ยวข้องกับอะไร

แล้วลองว่าคนจีนกินเพื่อความเชื่อดังว่าแล้ว ชีวิตที่ผลิตตามครรลองธรรมชาติย่อมไม่พอให้กิน เวลานี้จึงมีการส่งเสริมปลาตีนเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ บ้านเราไม่นิยมกินปลาตีน แต่มักมีคนจับมาขายเป็นปลาตู้ โดยหลอกว่าเป็นปลาน้ำจืดจากต่างประเทศ คนขายมักตั้งชื่อแปลกๆ เพื่อต้มคนซื้อได้สำเร็จ เช่น ปลาคุณเท้า ปลาเกราะเพชร ไปจนถึง Four-eyes เป็นต้น

ปลาตีน (Mudskipper) เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ย่อย Oxudercinae ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) อันเป็นวงศ์ปลาที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในโลก (กว่า 1,950 ชนิด) ลำพังปลาตีนเองก็มีหลายชนิดพันธุ์ ที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ Periophthalmus barbarus, Periophthalmodon schlosseri และ Boleophthalmus boddarti  มีชื่อเรียกภาษาไทยต่างกันไป ถ้าเป็นปลาตีนตัวใหญ่ เรียกว่า ปลากระจัง ลำตัวยาวขนาดประมาณ 25 เซนติเมตร ถ้าเป็นขนาดเล็กประมาณ 10 เซนติเมตร เรียกว่า “จุมพรวด” 

ปลากระจัง หรือ ปลาตีนเขี้ยว
ปลากระจัง หรือ ปลาตีนเขี้ยว

ที่เราเห็นทั่วไปในป่าชายเลนมีทั้งสองขนาด แต่ตัวที่จะพูดถึงคือจุมพรวด ชนิดเดียวกับที่เป็นเมนูอาหารจีน

จุมพรวด เป็นกิริยาที่แปลว่า กระโดด สอดคล้องกับ Mudskipper ที่แปลว่านักกระโดดเลน ชนิดของจุมพรวด คือ ปลาตีนจุดฟ้า (Blue-spotted mudskipper ชื่อวิทยาศาสตร์: Boleophthalmus boddarti) ลำตัวสีเข้มจนเกือบดำเช่นเดียวกับปลาตีนแทบทุกชนิด แต่มีจุดเด่นคือจุดสีฟ้าที่กระจายอยู่ทั่วตัว มองผาดๆ เหมือนตุ๊กแกหมกเลน ปลาตีนทุกชนิดสามารถเปลี่ยนสีลำตัวและปรับอุณหภูมิร่างตามสภาพแวดล้อม (Poikilotherm) อย่างเช่น จุมพรวด ในช่วงปกติจุดสีฟ้าจะแลเห็นเด่นชัด แต่ถ้าอยู่ในอารมณ์ตระหนก จุดสีจะจางลงจนแทบมองไม่เห็น คล้ายกับการพลางตัวของสัตว์เลื้อยคลาน

จุมพรวด (ซึ่งข้อความต่อไปนี้รวมถึงปลาตีนทุกชนิดพันธุ์) อาศัยได้ทั้งบนบก น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม พบได้เฉพาะบริเวณป่าชายเลนที่มีน้ำท่วมถึง เป็นเอกลักษณ์ประจำป่าชายเลน พบได้ในป่าชายเลนในเขตร้อน ตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกา จนถึงเอเชียแปซิฟิก ในบ้านเราพบจุมพรวดได้ตั้งแต่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงซึ่งเป็นบริเวณที่แหล่งอาหารการกินสมบูรณ์ มีพื้นเลนกว้างใหญ่ ไล่ลงถึงอ่าวไทยตอนล่าง และชายฝั่งทะเลอันดามัน

จุมพรวดมีพฤติกรรมดำรงชีวิตส่วนใหญ่ที่อาศัยบนพื้นเลน และมักออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงน้ำลง เช่น การหาอาหาร การผสมพันธุ์ การสร้างที่อยู่ และเป็นสัตว์น้ำที่มีพัฒนาการที่แตกต่างจากสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น สามารถทนต่อความเค็มที่มีช่วงกว้างได้ (Euryhaline) มีการปรับตัวและโครงสร้างของร่างกายเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตบนเลนได้  เช่น ครีบที่พัฒนามีความแข็งแรง เปรียบเสมือนขาหน้าของสัตว์ ใช้ในการขุดรู ยึดเกาะ ปีนป่ายต้นไม้ ไถลตัวไปตามพื้นเลน ดวงตาที่อยู่บนหัวมีขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจน มีถุงใต้ตาที่สามารถซับน้ำมาหล่อเลี้ยง ทำให้ดวงตามีความชุ่มชื้นเมื่อขึ้นมาอยู่บนบกนานๆ ดวงตามีก้านตาที่สามารถยืดหรือหดให้สั้นยาวได้ ซึ่งเป็นกลไกการปรับตัวเพื่อให้สามารถมองเห็นในอากาศได้ดี

กลไกการหายใจก็เป็นอีกหนึ่งของการปรับตัว เนื่องจากจุมพรวดใช้ชีวิตบนเลนเป็นหลัก จึงมีระบบการหายใจที่พิเศษกว่าปลาชนิดอื่น คือมีกระพุ้งแก้มที่โป่งพองใช้ในการเก็บกักน้ำทำให้เหงือกมีความชื้น สามารถดึงออกซิเจนไปใช้ได้เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในน้ำ อีกทั้งผิวหนังของจุมพรวดยังสามารถดูดซับออกซิเจนจากอากาศได้อีกด้วย

จุมพรวดชอบอยู่รวมกันหลายตัวและมีอาณาเขตจำกัด ไม่ออกนอกเขตไปไกล ในช่วงผสมพันธุ์ จุมพรวดตัวผู้จะแบ่งเขตด้วยการสร้างหลุมซึ่งใช้ปากขุดโคลนมากองบนปากหลุม ตัวเมียและตัวผู้จะผสมพันธุ์กันในหลุมนี้ ตัวผู้จะหวงเขต ถ้ามีตัวอื่นมาล้ำ มันจะกางครีบหลังขู่แล้ว “จุมพรวด” ใส่ผู้รุกล้ำทันที

จุมพรวดชอบหากินช่วงน้ำลง กินอาหารทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ อาทิ เศษใบไม้ สาหร่าย สัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ปู และแมลง ในยามกินอาหาร จุมพรวดยิ่งดูเหมือนสัตว์เลื้อยคลานมากกว่าปลา

การกินอาหารและการสร้างที่อยู่จึงทำให้จุมพรวดมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศป่าชายเลน ทั้งการหมุนเวียนสารอาหารในป่าชายเลน การช่วยควบคุมสมดุลของห่วงโซ่อาหาร และถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศป่าชายเลน พฤติกรรมการจุดหลุมเพื่อสร้างรังผสมพันธุ์ยังเป็นการช่วยเติมอากาศเข้าไปในดินเลน (คล้ายๆ กับแม่หอบทำจอมหอบ) เสมือนการพรวนดินให้กับต้นไม้ในป่าชายเลนอีกด้วย

แหล่งอาศัยของจุมพรวดนอกจากจะอุดมด้วยห่วงโซ่อาหารแล้ว ยังต้องสะอาด หมายถึงไม่มีมลพิษปนเปื้อน จุมพรวดจึงเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนผืนนั้นด้วย

ในอดีต บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเคยอุดมด้วยจุมพรวดและปลาตีนชนิดพันธุ์อื่นๆ แต่ปัจจุบันหายากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อปี 2554 มีรายงานจากกลุ่มอนุรักษ์เมืองแปดริ้วที่พบฝูงปลาตีนลอยตายเกลื่อน สาเหตุจากการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษทิ้งบริเวณปากอ่าวไทย การตายยกฝูงครั้งนั้นทำให้ประชากรจุมพรวดลดลง และเมื่อการปล่อยน้ำเสียได้รับการแก้ไขช้าเกินไป ทุกวันนี้ จุมพรวดกลายของหาดูยากในบางปะกง ส่วนใหญ่ที่เจอมักจะเป็นอ่าวไทยด้านจังหวัดเพชรบุรี

อดีตงดงามอีกเรื่องหนึ่ง ที่กำลังจางหายไปจากบางปะกง

TAGS #ปลาตีน #จุมพรวด #ผู้หมุนเวียนสารอาหารในป่าชายเลน #ป่าชายเลน #บางปะกง #อยู่ดีกินดี #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า #วิถีริมแม่น้ำ

ที่มาข้อมูล

  • เอกสารการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ครั้งที่ 53 เรื่อง พฤติกรรมการดำรงชีวิตของปลาตีนจุดฟ้า. ธนภูมิ วิชัยดิษฐ, จรวย สุขแสงจันทร์ และเยาวลักษณ์ มั่นธรรม
  • https://fishingthai.com/mudskipper-fish/
  • https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/mudskipper/

ภาพจุมพรวดจาก วิกิพีเดีย

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง