ซั้งกอ

ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง เรียกว่า กล่ำ หรือ กร่ำ พอลงใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์เป็นต้นไป เรียกว่า ซั้ง หรือซั้งกอ
ซั้งกอ

เมื่อปี 1860 (พ.ศ.2403) John Holbrook บรรณาธิการสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเมืองฮาร์ตฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต ได้เขียนหนังสือที่พูดถึงการทำปะการังเทียมเพื่อจุดประสงค์ในการดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอาศัย ในกรณีที่ทะเลแถบนั้นได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาตามแนวชายฝั่ง

นับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงปะการังเทียมเมื่อกว่า 160 ปีมาแล้ว

ไอเดียการทำปะการังเทียมในยุคแรก เริ่มต้นจากความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ร้อยปีผ่านไป สภาวะโลกร้อน โลกรวน มาจนถึงโลกเดือด ทำให้แนวคิดปะการังเทียมเคลื่อนจุดประสงค์ไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง คือทำเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ ห้ามจับสัตว์น้ำในบริเวณติดตั้งปะการังเทียม แต่ในเวลาต่อมา แนวคิดเรื่องปะการังเทียมสองฝั่งก็มาเจอกันตรงกลาง คือทำอย่างไรจะให้สัตว์น้ำมีที่อยู่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสขยายพันธุ์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีชนิดพันธุ์ที่หลากหลายมากขึ้น

ปะการังเทียมในยุคบุกเบิก

แนวปะการังเทียม เป็นหนึ่งในชุดเครื่องมือจำนวนมากที่นักอนุรักษ์ทางทะเลใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังทั่วโลก มีทั้งที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จากวัสดุสังเคราะห์ มีรูปร่างและรูปแบบที่ไม่จำกัด แต่เป้าหมายเดียวกัน คือให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ใต้ท้องทะเล

แนวคิดในการทำแนวปะการังเทียมเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศปะการัง เกิดขึ้นในช่วงปี 1970-1980 (พ.ศ. 2513-2514) ช่วงแรกๆ ใช้สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่หาได้ไม่ยาก เช่น เรือเก่า เรือทหารที่ปลดระวาง ยานพาหนะ ฯลฯ สิ่งก่อสร้างพวกนี้ทำงานได้ดี ไม่พบความเป็นพิษ แต่ก็ถูกโจมตีว่าเป็นช่องทางการกำจัดขยะที่ไม่ต้องจ่ายสตางค์ มากกว่าตั้งใจทำปะการังเทียม เนื่องจากว่าหลังจากทิ้งของขนาดใหญ่แบบนั้นได้ ก็มีการทิ้งยางรถยนต์ลงทะเลไม่รู้ว่ากี่ล้านเส้น โดยอ้างว่าเป็นการทำปะการังเทียมอีกเหมือนกัน แม้แต่สิงคโปร์ก็ยังขนขยะจากการก่อสร้างในที่ต่างๆ เอาไปทิ้งทะเลเพื่อหวังให้เป็นปะการังเทียม นักอนุรักษ์ทางทะเลก็ชักวิตกว่า ต่อไปอะไรต่อมิอะไรก็ทิ้งลงทะเลได้โดยอ้างว่าทำปะการังเทียม โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบเรื่องความเป็นพิษ

แล้วช่วงเรียนรู้ถูกผิดก็ผ่านไป…

ทุกวันนี้ การทำปะการังเทียมมาไกลจากเมื่อ 50 ปีก่อน ไม่มีการใช้ซากผุพังจากสิ่งก่อสร้าง หรือวัสดุที่อาจแปรเป็นพิษต่อพื้นผิวใต้ทะเล ปะการังเทียมส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบให้ใช้งานอย่างมีจุดประสงค์ตามบริบทของพื้นที่ เลือกวัสดุที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่เป็นพิษ

กล่ำ

ประมงพื้นบ้านมึความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง เรียกว่า กล่ำ หรือ กร่ำ พอลงใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์เป็นต้นไป เรียกว่า ซั้ง หรือซั้งกอ

แต่ความหมายหรือเป้าหมายของกล่ำหรือซั้ง ไม่เหมือนกับปะการังเทียมเสียทีเดียว

กล่ำและซั้งเป็นภูมิปัญญาที่ใช้วัสดุธรรมชาติ คนบางปะกงใช้กิ่งไม้ เช่น กิ่งแสมปักบนพื้นเลน สุมไว้ไม่ไกลจากริมตลิ่งมากนัก คะเนว่าให้ไม้สูงพ้นน้ำในยามที่น้ำขึ้นเต็มที่ พอน้ำลงได้ที่ก็พากันมาล้อมกล่ำด้วยเฝือกไม้ไผ่อีกที แล้วค่อยๆ ถอนกล่ำออก ทีนี้ก็ใช้สวิงไล่ตักปลาในวงล้อมเฝือกไม้ไผ่

ทุกวันนี้ยังมีคนทำกล่ำเป็นแหล่งวางไข่ และเป็นแหล่งหลบภัยของปลาเล็ก แม้จะไม่มากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ทำให้ชุดความรู้ที่มีค่านี้ไม่จากไปเหมือนกับหลายเรื่องที่ไปแล้วไปลับ

“ซั้ง” ที่ไม่ซ้ำแบบใคร

สำหรับชาวประมงทางใต้ ซั้งกอเป็นภูมิปัญญาที่ใช้ดักปลากลางทะเล ชาวประมงจะทิ้งซั้งที่ทำจากทางมะพร้าวที่มัดกับอวนและถ่วงด้วยหิน แล้วค่อยดำน้ำลงไปดูว่ามีปลาเข้าไปอยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเยอะก็ใช้อวนล้อมรอบพื้นที่แล้วไล่ปลาให้มาติดในอวน

ทุกวันนี้ประมงชายฝั่งในภาคใต้ก็ยังทำซั้ง เพียงแต่วางในน้ำตื้น โดยปรับอุปกรณ์ให้เข้ากับพื้นที่เพื่อฟื้นฟูแหล่งเพาะพันธุ์ให้สัตว์น้ำ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นปัญหาแล้วว่าปริมาณสัตว์น้ำน้อยลงเรื่อยๆ

ซั้ง ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า FADs (Fish Aggregating Devices) หมายถึง การใช้วัสดุลอยน้ำต่างๆ เช่น ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว เศษอวน นำมามัดรวมกันแล้วถ่วงด้วยก้อนหิน หรือผูกติดกับโขดหินใต้น้ำ เพื่อให้เป็นที่อยู่และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก ในทางอ้อมยังช่วยป้องกันการทำประมง เช่น เรืออวนลาก ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ความหมายของซั้งง่ายกว่าปะการังเทียม (Artificial reef) และเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาที่ชาวบ้านก็ทำอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ใช้วัสดุพื้นบ้าน ลงแต่แรง ไม่ต้องลงทุน แต่มาถึงสมัยนี้ ปูนซีเมนต์ก็เป็นตัวช่วยที่ดี

ซั้งที่เกิดขึ้นที่บางปะกง เป็นซั้งที่ไม่ซ้ำแบบใคร มันเกิดขึ้นจากชุดความรู้เดิมบวกกับการจัดการปัญหาขยะได้อย่างลงตัว

ชาวบ้านส่วนหนึ่งในบางปะกงมีอาชีพแกะเนื้อหอยแมลงภู่ขาย เปลือกหอยแมลงภู่เป็นขยะที่ส่งกลิ่นเหม็นและมีต้นทุนในการจัดการ ราวปี 2565 โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CEIS) ซึ่งประกอบด้วย 4 ภาคีร่วม คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์และกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนหมู่ 1 และหมู่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนำผลการทดลองการทำซั้งกอจากปูนผสมเปลือกหอยเปลือกปู ซึ่งเป็นนวัตกรรมของกลุ่มเยาวชนโรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ จังหวัดตรัง ภายใต้โครงการ Move World Together ซึ่งเป็นโครงการย่อยในโครงการใหญ่นี้ เข้ามาต่อยอดเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับชุมชนตำบลท่าข้าม

กระบวนการ

การวิจัยที่บางปะกงเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ในการติดตั้งซั้งกอ โดยการวัดระดับน้ำลึก น้ำตื้น ในช่วงที่มีน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อหาจุดที่ซั้งจะอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา ไม่กีดขวางเส้นทางดำน้ำ เส้นทางสัญจรทางน้ำโดยปกติ และขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทดลองทำซั้ง 3 รูปแบบเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบ ได้แก่ ซั้งกอแบบดั้งเดิม (หรือกล่ำจากกิ่งแสม) ซั้งกอจากปูนผสม และซั้งกอจากเปลือกหอยแมลงภู่

ซั้งกอ
การทำโครงสร้างลักษณะคิวบิก

ซั้งกอแบบดั้งเดิมไม่มีปัญหา ส่วนสองแบบหลังใช้รูปทรงคิวบิก ซั้งกอจากปูนผสมใช้ไม่ไผ่ยาวประมาณ 60 เซนติเมตรเป็นตัวแบบ ในหนึ่งลูกคิวบิกจะใช้ไม้จำนวน 48 ชิ้น ทำทั้งหมด 16 คิวบิก เมื่อเตรียมไม้เสร็จก็ทำส่วนผสมยึดเกาะโครงสร้าง ส่วนผสมที่ว่า คือปูนกับกระดาษแช่น้ำที่บีบน้ำออกแล้ว ในอัตราส่วน ปูน:กระดาษ เท่ากับ 3:1 โดยในส่วนของปูนจะมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์กับปูนกาว

ส่วนโครงสร้างซั้งกอจากเปลือกหอยแมลงภู่ ใช้ปูน:กระดาษบีบน้ำแล้ว:เปลือกหอยแมลงภู่บดหยาบ ในอัตราส่วน 3:1:1
เสร็จแล้วนำส่วนผสมมายึดเกาะกับโครงสร้างซั้งกอ 16 ลูก

นำซั้งกอแต่ละลูกไปวางตามจุด ห่างกันลูกละ 32 เมตร ในกรณีที่เป็นซั้งกอจากปูนผสม และซั้งกอจากเปลือกหอยแมลงภู่ ใช้ไม้ไผ่วางราบไปกับดินเลน เพื่อไม่ให้ซั้งกอจมดินเลน เอาซั้งกอวางทับไม้ไผ่ 2 ลูกเป็นแนวตั้ง แล้วใช้ไม้ไผ่ปักยึด 4 มุมของคิวบิก เพื่อไม้ให้ซั้งลอยตามน้ำ จากนั้นใช้กิ่งแสม 4 กิ่ง ขัดกับคิวบิกทั้ง 4 มุม

ภาพจำลองการติดตั้งซั้งกอ
ภาพจำลองการติดตั้งซั้งกอ

ซั้งกอทั้งหมดถูกทิ้งไว้ 5 เดือน (8 ตุลาคม 2565-27 มีนาคม 2566) เมื่อไปเก็บผลวิจัย พบว่าซั้งกอดั้งเดิมที่ทำจากกิ่งแสม หลุดหายไปกับกระแสน้ำ ส่วนซั้งกอที่ผสมปูนและเปลือกหอยยังอยู่และมีผลที่ดี คือพบจำนวนสิ่งมีชีวิต 98,000 ตัว ไม่รวมสัตว์ที่นับจำนวนไม่ได้ อย่างเข่น เพรียงหิน ลูกกุ้ง ลูกปู ลูกปลา หนอน ซั้งกอจากปูนผสมเปลือกหอยแมลงภู่ พบสิ่งมีชีวิตมากกว่าซั้งกอจากปูนผสม ซั้งกอเปลือกหอยพบสิ่งมีชีวิต 59,400 ชนิด ส่วนซั้งกอปูนผสม พบ 38,900 ชนิด จำนวนชนิดสัตว์ที่พบซั้งกอปูนพบ 27 วงศ์ ส่วนซั้งกอเปลือกหอยพบ 28 วงศ์ ความชุกชุมของสิ่งมีชีวิตแต่ละวงศ์ (relative abundance) ซั้งกอเปลือกหอยก็มากกว่าปูน

ซั้งกอเป็นสัญลักษณ์ของการทำประมงชายฝั่ง แนวซั้งกอตามชายฝั่งคือคำประกาศให้รู้ถึงเขตพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นปราการป้องกันการรุกของประมงพาณิชย์

และเป็นเครื่องมือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่กลายเป็นปากเสียงให้แก่คนเล็กคนน้อยไปด้วย

TAGS #ซั้งกอ #กร่ำ #กล่ำ #ปะการังเทียม #บ้านปลา #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

อ้างอิง
http://bangkrod.blogspot.com/2010/11/blog-post_17.html

https://newheavenreefconservation.org/marine-blog/147-artificial-reefs-what-works-and-what-doesn-t

ข้อมูลและภาพจาก เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็น โครงการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมเพื่อทดสอบประสิทธิภาพซั้งกอจากเปลือกหอยในการเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ ณ พื้นที่ปากแม่น้ำ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง
ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงมีพันธุ์ไม้มากกว่า 80 ชนิด แต่ชนิดที่คนใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน คือต้นจาก สมัย 40-50 ปีก่อน จากเป็นพืชที่ผูกพันกับทุกชีวิต อาหาร