“คลัก” ของเล่นของเด็กเมื่อวันวาน

ต้นคลัก หรือพังกาหัวสุม ของเล่นจากธรรมชาติของเด็กน้อยเมื่อวันวาน
พังกาหัวสุม (Black mangrove; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bruguiera gymnorhiza (L.) Savigny) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย และกระจายอยู่ในเขตร้อนทั่วโลก ทั้งในแอฟริกาใต้ แถบมหาสมุทรอินเดีย จนถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะโพลินีเซีย

ต้นคลัก หรือพังกาหัวสุม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง รูปทรงต้นสวย ดอกคล้ายสุ่มจับปลา ฝักรูปทรงกระบอก ทั้งฝักและดอก คือของเล่นจากธรรมชาติของเด็กน้อยเมื่อวันวาน

ของเล่นของเด็กยุคดิจิทัลต่างกันไกลลิบลับกับเด็กแอนะล็อก เด็กสมัยก่อนหาของบันเทิงเริงใจจากสิ่งใกล้ตัว ไม่ต้องใช้สตางค์ ง่ายที่สุดก็คือหาจากธรรมชาติ รุ่นหัวจุกหัวแกละก็เอาก้านใบตองมาทำม้าก้านกล้วย เป็นอะไรที่เน้นจินตนาการมาก รุ่นมานะ ปิติ ชูใจ เด็กผู้หญิงเก็บหินก้อนเกลี้ยงๆ มาเล่นหมากเก็บ เมล็ดมะขามที่จัดการเนื้อเสร็จแล้วก็เอามาเล่นอีตัก ถ้าเป็นเด็กน้อยที่บ้านอยู่ปากแม่น้ำก็เอาฝักต้นคลักมาเล่นเป็นตุ๊กตา ฝักใหญ่โตหน่อยรับบทเป็นพี่ เล็กไล่ลงมาเป็นน้องๆ ส่วนดอกที่หน้าตาเหมือนหัวสุ่ม เอามาล้อมทำเป็นห้องแบ่งอาณาเขตให้ตุ๊กตา

คลักหรือพังกาหัวสุม

ต้นคลักเป็นชื่อเรียกของคนทางภาคกลางและภาคตะวันออก (ถ้าสำเนียงคนทางตะวันออกจะออกเสียงว่า “ขลัก”) เคยได้ยินคนสมุทรปราการเรียกต้นคลักว่าต้นประสัก ก็เป็นชื่อท้องถิ่นอีกชื่อหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนใต้จะเรียกว่า “พังกาหัวสุม” เห็นภาพดอกที่หน้าตาเหมือนสุ่มจับปลา

คำว่า “พังกา” เพี้ยนจากคำว่า “โกงกาง” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษอีกทีว่า Mangrove ป่าชายเลนมีบันทึกการค้นพบครั้งแรกในสมัยของโคลัมบัสเมื่อเดินทางไปทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะคิวบา อันที่จริงคำว่า Mangrove มาจากภาษาโปรตุเกสว่า Mangue (ออกเสียงว่า มังกิ) หมายถึงกลุ่มสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลดินเลน คำนี้ใช้กันแพร่หลายในประเทศแถบลาตินอเมริกา พอมาถึงบ้านเรา คนใต้ออกเสียงว่า “พังกา” และเรียกป่าชายเลนว่า “ป่าพังกา” แต่คนภาคกลางและตะวันออกเรียก “โกงกาง” และป่าโกงเกง แล้วก็มีชื่อออกเสียงไปตามถิ่นต่างๆ (คนพื้นถิ่นที่ไหนๆ ก็ไม่ใคร่เรียกว่า ป่าชายเลน คำว่า “ป่าชายเลน” เป็นภาษาราชการที่ใช้กันในยุคนี้)

พังกาหัวสุม จึงหมายถึงชนิดพืชหนึ่งในป่าชายเลนที่มีดอกเหมือนสุ่มจับปลานี่เอง

พังกาหัวสุม (Black mangrove; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bruguiera gymnorhiza (L.) Savigny) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย และกระจายอยู่ในเขตร้อนทั่วโลก ทั้งในแอฟริกาใต้ แถบมหาสมุทรอินเดีย จนถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะโพลินีเซีย

พังกาหัวสุม (Black mangrove; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bruguiera gymnorhiza (L.) Savigny) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย และกระจายอยู่ในเขตร้อนทั่วโลก ทั้งในแอฟริกาใต้ แถบมหาสมุทรอินเดีย จนถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะโพลินีเซีย

พังกาหัวสุมเป็นไม้วงศ์เดียวกับโกงกาง (วงศ์ Rhizophoraceae) มีรากคำยันเหมือนกันแต่เล็กกว่าโกงกาง ขึ้นกระจายถัดจากแนวโกงกางใบเล็กขึ้นมาทางฝั่ง ชอบดินค่อนข้างแข็ง เหนียว และน้ำท่วมถึงสม่ำเสมอ หรือขึ้นตามป่าชายเลยที่มีความเค็มของน้ำค่อนข้างต่ำ ออกดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี คนพื้นที่จะเอาต้นไปทำเสาโป๊ะ หรือหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่ จนถึงเผาถ่าน

พังกาหัวสุมเป็นไม้ที่ทรงสวย ดอกก็สวยสะดุดตา ทำให้มีการนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ส่วนใหญ่นิยมพังกาหัวสุมดอกแดง (คนใต้เรียก โกงกางหัวสุม) แต่ดอกสีแดงเราไม่ค่อยเห็นทางภาคตะวันออก พบมากแต่ทางใต้ ส่วนทางภาคกลางและตะวันออกเห็นแต่พังกาหัวสุมดอกขาว และจำนวนก็เหลือน้อยลงทุกที เพราะชายฝั่งภาคตะวันออกส่วนใหญ่ถูกกลืนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ

พังกาหัวสุมดอกขาวต่างจากดอกแดงตรงที่มีกลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว แม้จะเรียกว่าดอกขาว แต่ที่จริงกลีบดอกเป็นสีชมพูเรื่อๆ แต่ดอกทั้งสองชนิดก็หน้าตาเหมือนสุ่ม เวลาร่วงหล่น เด็กบ้านนอกจะเก็บไปเล่นขายของ เล่นตุ๊กตา ส่วนผลก็คือตัวที่เรียกว่าฝัก เป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว เวลาแก่จัดจะขึ้นเป็นสันเล็กน้อย แล้วกลายเป็นสีเข้มแกมม่วงจนถึงสีม่วงดำ

เพิ่มมูลค่าคือการเก็บป่าไว้ได้

เช่นเดียวกับรุ่ย หรือต้นถั่วขาวที่ใช้ฝักมาทำอาหาร พังกาหัวสุมก็ใช้ฝักเหมือนกัน สมัยที่ขนมไม่ได้หาง่ายๆ ตามร้านสะดวกซื้อ ชาวบ้านจะเอาฝักพังกาหัวสุมมาเชื่อมเก็บไว้กินเล่น แต่เนื่องจากฝักมีรสฝาด ก่อนจะเชื่อมก็ต้องกำจัดรสฝาดนี้ออกก่อน โดยเลือกฝักที่ยังไม่แก่ ล้างให้สะอาดแล้วต้มจนสุก ปอกเปลือกแล้วแช่น้ำด่าง (ขี้เถ้า) เสร็จแล้วก็ต่อด้วยการแช่น้ำปูนใส เสร็จแล้วก็ต้องเอาต้มซ้ำอีก แล้วถึงจะเอาไปเชื่อมได้ ด้วยความยุ่งยากและใช้เวลาเกินไปสำหรับทุกวันนี้ ก็เลยหาคนอยากเอามาทำกินไม่ได้แล้ว

ด้วยเกรงว่าพังกาหัวสุมจะหายไปจากป่าชายเลนปากแม่น้ำบางกะปง ทางมหาวิทยาลัยบูรพาจึงได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรียกว่า “โครงการการเพิ่มมูลค่าฝักพังกาหัวสุมดอกแดงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่และการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์บนเว็ปเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน”

จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้คือการทดลองพัฒนาฝักพังกาหัวสุมมาทำเป็นแป้งทำขนมกึ่งสำเร็จรูป คล้ายๆ กับตอนที่ชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ช่วยกันฟื้นต้นสาคูเอามาทำแป้งสาคูแท้ๆ แทนการใช้แป้งมันทำสาคูแบบที่เราซื้อกินกันทุกวันนี้

ขั้นตอนการวิจัยก็เริ่มตั้งแต่การกำจัดความฝาดขม โดยนำมาต้มสองครั้ง แล้วต่อด้วยการแช่ในโซเดียมคาร์บอเนต เสร็จแล้วนำไปอบลมร้อนนาน 7 ชั่วโมง แล้วก็บด-ร่อนผ่านตะแกรง พอได้แป้งแล้วก็เอามากวนกับน้ำจนได้สูตรที่เหมาะสม แล้วลองทำขนมโดยเติมน้ำตาลและอื่น ๆ ก็พบว่า…อร่อยเข้าท่า

น่าเสียดายที่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง ไม่มีโอกาสขึ้นห้าง อันที่จริงพังกาหัวสุมเป็นพืชชายเลนที่มีประโยชน์ทางยามาก ภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ฝักเป็นยารักษาโรคท้องเสีย และรักษาการอุดตันของลำไส้ใหญ่ เคยมีงานวิจัยทางเภสัชเคมีและพฤกษเคมี พบว่าสารสกัดจากดอกพังกาหัวสุมมีสารป้องกันมะเร็ง (แต่ไม่ระบุสรรพคุณฝัก)

การฟื้นแป้งสาคูแท้ๆ เมื่อปี 2550 ทำให้ผลิตภัณฑ์จากแป้งจากต้นสาคูกลายเป็นสินค้า niche market คือหาได้เฉพาะตลาดแนวออร์แกนิค ไม่วางขายตามตลาดทั่วไป กลายเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ต้นสาคู มีผลทำให้คนนาโยง “เก็บ” ป่าสาคูไว้ได้จนถึงทุกวันนี้

หวังว่าสักวันหนึ่ง คนบางปะกงคงจะพาพังกาหัวสุมเดินไปตามรอยเท้านี้

TAGS: #คลัก #ขลัก #พังกาหัวสุม #ป่าชายเลน #อยู่ดีกินดี #น้ำพี่งเรือเสือพึ่งป่า

ที่มา:

  • ของเล่นจากดอกพังกาหัวสุม เพจ วันวาน…ของบางกรูด http://bangkrod.blogspot.com/2012/08/blog-post_7.html
  • งานวิจัย โครงการการเพิ่มมูลค่าฝักพังกาหัวสุมดอกแดงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่และการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์บนเว็ปเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน. สิริมา ชินสาร, วิชมณี ยืนยงพุทธกาล, กฤษณะ ชินสาร. มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะวิทยาการสารสนเทศ, คณะวิทยาศาสตร์. 2555

ภาพพังกาหัวสุมดอกขาว, พังกาหัวสุมดอกแดง จากวิกิพีเดีย

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง