“นกชายเลน” นักเดินทางไกลแห่งปี

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ก่อนที่ฤดูหนาวจะมาเยือนซีกโลกเหนือ นกหลายชนิดจะเตรียมตัวบินข้ามมหาสมุทรเป็นพันกิโลเมตร มุ่งหน้าลงใต้หนีความหนาวอันทารุณ
เกาะนกแม่น้ำบางปะกง

พอถึงเดือนกันยายน แนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนในจะเริ่มปรากฎนกชายเลนนานาชนิด และทยอยเข้ามาจนคลาคล่ำในเดือนตุลาคม 

นกเหล่านี้บินย้ายถิ่นมาจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น ไซบีเรีย บางส่วนมาไกลทวีปอเมริกาเหนือบริเวณรัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกา เหล่านักเดินทางนี้บางส่วนจะเข้ามาอาศัยบริเวณอ่าวไทยตอนในตลอดฤดูหนาว บางชนิดแค่พักชั่วคราวก่อนจะบินต่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และยาวลงใต้ไปเรื่อย จนถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จนกระทั่งฤดูหนาวผ่านพ้นไปจึงจะทยอยบินกลับไปจับคู่ผสมพันธุ์ และสร้างรังวางไข่ในถิ่นที่จากมาซึ่งอากาศเริ่มอบอุ่นและมีอาหารอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เมื่อเลี้ยงลูกนกจนโต ก่อนที่ความหนาวเย็นมาเยือน เหล่านักเดินทางก็จะล่องใต้ วนเวียนเป็นวัฏจักรชีวิตปีแล้วปีเล่า

ทำไมต้องมา “ชายเลน”

ในการอพยพหนีความหนาวลงใต้ นกเหล่านี้ต้องบินไกลหลายพันกิโลเมตร กินเวลานับเดือน จึงจำเป็นต้องเลือกเส้นทางบินที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ให้รอนแรมระหว่างทาง ตลอดเส้นทางบินจึงต้องผ่านแนวชายฝั่งทะเลและแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อหาอาหารและแหล่งพักพิงจนกว่าจะถึงที่หมายปลายทาง

เมื่อพบแหล่งอาหาร นกจะหากินอยู่ตามชายฝั่ง หรือริมตลิ่งที่ระดับน้ำไม่สูง นกบางชนิดหากินบนพื้นเลน จึงรวมเรียกนกเหล่านี้ว่า “นกชายเลน” (Shorebird) อาหารของนกคือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็กๆ ที่มีอยู่มากมาย ทั้งบนและใต้พื้นเลน ในน้ำและบนผิวน้ำ ด้วยความที่นกเหล่านี้มีถิ่นอาศัย และแหล่งหากินกว้างไกล ครอบคลุมทั้งแหล่งน้ำจืด ปากแม่น้ำบริเวณชายเลน และชายฝั่งทะเล โดยที่สามารถบินย้ายถิ่นเป็นระยะทางยาวไกล จึงทำให้นกชายเลนกระจายพันธุ์อยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก

นกที่มีแหล่งขยายพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย จีน และอลาสกา จะบินย้ายถิ่นในเส้นทางเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (The East Asia-Australian Flyway) เส้นทางนี้ทอดตัวยาวจากเขตอาร์กติก ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

นกที่ใช้เส้นทางนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่บินเลียบแผ่นดินใหญ่ แวะพักตามชายฝั่งของทวีปเอเชียในเส้นทางของประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อีกกลุ่มหนึ่งบินตัดมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านไปตามเกาะต่าง ๆ ผ่านญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ไปจนถึงออสเตรเลีย

นกชายเลนแต่ละชนิดมีขนาด และรูปร่างต่างกันตามพฤติกรรมการหากิน และถิ่นอาศัย โดยมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงตัวสูงใหญ่ มีทั้งขาสั้นสำหรับเดินหากินบนพื้นเลนอย่างคล่องแคล่ว กับขายาวโย่งที่ช่วยให้ลุยน้ำหากินสะดวก รูปทรงปากต่างกันหลายรูปแบบเช่นเดียวกับขา นกขนาดเล็กมักมีปากสั้น นกขนาดใหญ่มีปากแหลมยาว บางชนิดมีรูปปากโค้งเหมือนช้อน รูปทรงปากที่มีหลากหลายรูปแบบนับเป็นเอกลักษณ์ของนกชายเลน

แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

เส้นทางบินของนกชายเลนจากไซบีเรียจะเลือกแวะเติมพลังที่อ่าวไทยตอนใน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่หาดเลนที่กว้างที่สุดในประเทศ และถ้าเทียบกับพื้นที่อื่น คงมีไม่กี่แห่งในเอเชียที่มีพื้นที่แบบนี้ 

ผศ.ดร.ฟิลลิป ดี ราวด์ นักปักษีวิทยา อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าไม่มีอ่าวไทย นกคงต้องไปหากินที่อื่น “เราไม่มีข้อมูลว่า ถ้าไม่มีอ่าวไทยนกจะไปที่ไหน แต่คิดว่าคงไม่มี บางแห่งอย่างแถวจันทบุรี หรือตราดมีหาดเลนเหมือนกัน แต่นกน้อยมาก อาจเป็นว่าพื้นที่สภาพธรรมชาติ หรืออาหารไม่เหมาะสม สามร้อยยอดเองก็มีพื้นที่หาดเลน ให้นกหากินไม่กว้างเท่าไร แม้เราจะพบนกที่นี่หลายชนิด แต่จำนวนไม่มาก พิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้แล้ว นับว่าอ่าวไทยตอนในมีนกชายเลนรวมอยู่มากที่สุด” 

อ่าวไทยตอนในจึงนับเป็นแหล่งอาศัยหากินที่สำคัญต่อนกชายเลนมากที่สุด เพราะมีชายฝั่งเป็นแนวยาวถึง 195 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด เริ่มจากจังหวัดชลบุรีทางด้านตะวันออก ผ่านฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จนมาถึงด้านตะวันตก ไปสุดที่จังหวัดเพชรบุรี 

แนวหาดเลนน้ำท่วมถึงมีอาณาเขตกว้างใหญ่กว่า 235 ตารางกิโลเมตรนี้ รวมพื้นที่ปากแม่น้ำสายหลัก 4 สาย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง สายน้ำเหล่านี้นำตะกอนและธาตุอาหารจากพื้นที่ราบลุ่มตอนบน ไหลลงสู่อ่าวไทยตอนใน ทำให้หาดเลนตลอดแนวชายฝั่งอุดมไปด้วยสัตว์หน้าดินจำนวนมหาศาล เป็นอาหารให้นกชายเลนได้อิ่มตลอดฤดูหนาว อ่าวไทยตอนในจึงมีความสำคัญต่อนกชายเลนที่บินย้ายถิ่นผ่าน และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับโลก

“เกาะนก” เสน่ห์บางปะกงที่รอวันฟื้น

บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ก่อนที่จะออกสู่ทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร มีสันดอนเป็นเกาะกลางแม่น้ำ เนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ เรียกว่า เกาะหลังดอน อยู่ตรงช่วงตวัดโค้งของแม่น้ำบางปะกง มีต้นจากเป็นไม้หลัก ปะปนกับตะบูน และแสมดำ พื้นที่สันดอนบริเวณนี้ส่วนมากเป็นที่โล่ง เหมาะเป็นแหล่งหากินของนกหลายชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกชายเลนที่อพยพมา

เคยมีการสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าในป่าชายเลนปากแม่น้ำบางปะกง พบว่า บนเกาะหลังดอน พบนก 95 ชนิด ในจำนวนนี้มี 40 ชนิดที่เป็นนกอพยพย้ายถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นนกในอันดับนกชายเลน (Shorebird / Order Charadriiformes) นกอพยพย้ายถิ่นเหล่านี้จะพบบริเวณนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน-มีนาคม ของทุกปี ยกเวันนกนางแอ่นบ้าน (Hirundo rustica) และนกแซงแซวหางปลา (Dicrurus macrocercus) ที่พบบางกลุ่มประชากรในประเทศไทยตลอดทั้งปี ส่วนนกที่เหลืออีก 55 ชนิด เป็นนกประจำถิ่นพบได้ตลอดทั้งปี (ทรัพยากรสัตว์ป่าในป่าชายเลนปากแม่น้ำบางปะกง, วีรยุทธ์ เลาหะจินดา และ โชคชัย เสนะวงศ์ ภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2535 https://kukrdb.lib.ku.ac.th/journal/JFS/search_detail/dowload_digital_file/199590/131979)

ปัจจุบัน เกาะหลังดอนเปลี่ยนชื่อเป็น “เกาะธรรมชาติท่าข้าม” อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลท่าข้าม มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 125 ไร่ นักท่องเที่ยวนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “เกาะนก” เพราะเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญ ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ผ่านมาเกาะนกปิดให้บริการนักท่องเที่ยว และยังไม่ได้มีการซ่อมแซมสะพานทางเดินบนเกาะ 

ในหน้าหนาว นกชายเลนจะสีหม่นๆ เป็นสีเทาและน้ำตาล ดูผาด ๆ เหมือนกันไปหมด นี่เป็นวิธีการพรางตัวของนกให้กลืนกับถิ่นอาศัย แต่เมื่อถึงฤดูร้อน นกจะพากันเปลี่ยนสีขนใหม่มที่สดใสสะดุดตาเพื่อเตรียมพร้อมในการจับคู่ผสมพันธุ์ 

แม้สีจะหม่น แต่ผู้มาเยือนจากถิ่นจากแดนไกลก็ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนนิยมดูนก และช่วงเวลาที่สามารถพบนกชายเลนได้มากที่สุดในบริเวณอ่าวไทยตอนใน อยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และอีกครั้งคือเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาบินย้อนกลับไปทางเหนือ

สองช่วงเวลาเหมาะสมสำหรับคนชอบดูนก ในการนั่งเรือผ่านคลอง ลัดเลาะเพื่อชมนกหลากหลายชนิด ทั้งนกประจำถิ่นที่ชอบเกาะบนต้นไม้ และนกเดินทางไกลที่หากินริมตลิ่งน้ำและบนหาดชายเลน

ส่วนคนที่ธุระเยอะ กดลิงค์ชมนกทิพย์ในตารางไปพลางก่อนก็แล้วกัน 

ชนิดของนกชายเลนที่พบในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน / คลิกชมภาพและฟังเสียงได้ในลิงค์หลังชื่อภาษาไทย

ชื่อภาษาไทยชื่อสามัญชื่อวิทยาศาสตร์
นกหัวโตสีเทา https://youtu.be/kRsfUFZe3h4 Grey PloverPluvialis squatarola
นกหัวโตหลังจุดสีทอง https://youtu.be/uqhqa4SM6qw Pacific Golden PloverPluvialis fulva
นกหัวโตเล็กขาเหลือง https://youtu.be/bvttNTxG424 Little Ringed PloverCharadrius dubius
นกหัวโตขาดำ https://youtu.be/i-0Dh7-xhlw Kentish PloverCharadrius alexandrinus
นกหัวโตมลายู https://youtu.be/uf9UiWZt16I Malaysian PloverCharadrius peronii
นกหัวโตทรายเล็ก https://youtu.be/PYIm8FkoDp4 Lesser Sand PloverCharadrius mongolus
Iนกหัวโตทรายใหญ่ https://youtu.be/zbCopXWrFTs Greater Sand PloverCharadrius leschenaulti
นกอีก๋อยใหญ่ https://youtu.be/HHKqNIhHL5o Eurasian CurlewNumenius arquata
นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล https://youtu.be/ndCM4jgflzA Eastern CurlewNumenius madagascariensis
นกอีก๋อยเล็ก https://youtu.be/js34SDT75eA WhimbrelNumenius phaeopus
นกอีก๋อยจิ๋ว https://youtu.be/Vr5LnNaZo_c Little CurlewNumenius minutus
นกปากแอ่นหางดำ https://youtu.be/TnXXqHaoWgs Black-tailed GodwitLimosa limosa
นกปากแอ่นหางลาย https://youtu.be/qrPZeypAMDI Bar-tailed GodwitLimosa lapponica
นกซ่อมทะเลอกแดง https://youtu.be/Zt_DWPRMxk8 Asian DowitcherLimnodromus semipalmatus
นกซ่อมทะเลปากยาว https://youtu.be/KqvmeUe5Rwc Long-billed DowitcherLimnodromus scolopaceus
นกทะเลขาแดงลายจุด https://youtu.be/ug84mF0LNlg Spotted RedshankTringa erythropus
นกทะเลขาแดงธรรมดา https://youtu.be/cUucmRSYNjc Common RedshankTringa totanus
นกทะเลขาเขียวลายจุด https://youtu.be/SCw4GpVGyOc Nordmann’s GreenshankTringa guttifer
นกทะเลขาเขียว https://youtu.be/3it32vVkmBU Common GreenshankTringa nebularia
นกชายเลนบึง https://youtu.be/2AASXu9L1xY Marsh SandpiperTringa stagnatilis
นกชายเลนน้ำจืด https://youtu.be/vvDhGy-coxU Wood SandpiperTringa glareola
นกเด้าดิน https://youtu.be/bKuIM9FTFz8 Common SandpiperActitis hypoleucos
นกชายเลนปากแอ่น https://youtu.be/0_TpYpUfrh4 Terek SandpiperXenus cinereus
นกตีนเหลือง https://youtu.be/30DJ_FvyCuw Grey-tailed TattlerHeteroscelus brevipes
นกลอยทะเลคอแดง https://youtu.be/pzCFm2QcFSw Red-necked PhalaropePhalaropus lobatus
นกชายเลนกระหม่อมแดง https://youtu.be/DF84FXLslr4 Sharp-tailed SandpiperCalidris acuminata
นกชายเลนปากโค้ง https://youtu.be/loZhcS13Gc0 Curlew SandpiperCalidris ferruginea
นกสติ๊นท์คอแดง https://youtu.be/gEzrzqCeAlU Rufous-necked StintCalidris ruficollis
นกสติ๊นท์อกเทา https://youtu.be/fXgpDfgjiTk Temminck’s StintCalidris temminckii
นกสติ๊นท์นิ้วยาว https://youtu.be/EsgW-NNY4Pc Long-toed StintCalidris subminuta
นกสติ๊นท์เล็ก https://youtu.be/c2CT4Is4dtM Little StintCalidris minuta
นกคอสั้นตีนไว https://youtu.be/lc-YaGilubQ SanderlingCalidris alba
นกน็อตใหญ่ https://youtu.be/apeyieyh-AI Great Knot Calidris tenuirostris
นกน็อตเล็ก https://youtu.be/SR5xSIpVC1E Red KnotCalidris canutus
นกชายเลนปากกว้าง https://youtu.be/l3u9GreMm8I Broad-billedSandpiper Limicola falcinellus
นกชายเลนปากช้อน https://youtu.be/bKUv56yMMd8 Spoon-billed SandpiperEurynorhynchus pygmeus
นกพลิกหิน https://youtu.be/aumvie0HdmY Ruddy TurnstoneArenaria interpres
นกรัฟ https://youtu.be/5yvk27Q3Bs8 RuffPhilomachus pugnax
นกตีนเทียน https://youtu.be/B69b8tAzniA Black-wingedStilt Himantopus himantopus
นกชายเลนปากงอน https://youtu.be/XEJLTmlf5Ks Pied AvocetRecurvirostra avosett
นกปากซ่อมหางเข็ม https://youtu.be/TVXFk1n2zQ0 Pintail SnipeGallinago stenura
นกปากซ่อมหางพัด https://youtu.be/L9GoBmWKvug Common SnipeGallinago gallinago

 TAGS : #นกชายเลน #นกในป่าชายเลน #อ่าวไทยตอนใน #เกาะนก #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

ที่มาข้อมูล: นกชายเลนในอ่าวไทย วัฏจักรและชะตาชีวิตบนหาดเลน, รุ่งโรจน์ จุกมงคล. นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 191 เดือนกุมภาพันธ์ 2544 https://www.sarakadee.com/feature/2001/02/bird.htm

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง