ป่าจาก ไม้ใกล้ชิด…ชีวิตคนสามน้ำ

เนิ่นนานมาแล้วที่ผู้คนในชุมชนสามน้ำได้พึ่งพาจากเป็นพืชเศรษฐกิจ แทบจะไม่มีพืชป่าชายเลนชนิดใดเทียบเท่าได้กับจากในด้านคุณค่าอาหารและคุณประโยชน์ใช้สอย ตั้งแต่ใบ ดอก ผล จนถึงราก
ป่าจาก

ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินกับผืนน้ำทะเลในเขตร้อน (Tropical region) และกึ่งร้อน (Subtropical region) เป็นปราการปกป้องการกัดเซาะดินริมตลิ่ง และเป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหารขนาดใหญ่จนมีผู้เปรียบว่าป่าชายเลนคือมดลูกผู้ให้กำเนิดชีวิตในมหาสมุทร

ระบบอันแสนมหัศจรรย์นี้เกิดจากการปรุงแต่งของทรัพยากรน้ำ ดิน พืชพันธุ์ และแร่ธาตุต่าง ๆ จากบกและทะเล จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์สัตว์ทั้งบนบกและในน้ำชนิดต่างๆ จนถึงแมลงจำนวนนับไม่ถ้วน มีพืชมากกว่า 80 สายพันธุ์ ทั้งไม้ล้มลุก ไม้ยืนต้นที่ผลัดใบและไม่ผลัดใบ แต่พันธุ์ไม้ที่เด่นคือไม้ในวงศ์ Rhizophoraceae โดยเฉพาะในสกุลไม้โกงกาง (Rhizophora) สกุลไม้โปรง (Ceriops) และสกุลไม้ถั่ว (Bruguiera) รวมถึงต้นจาก (Nypa fruticans) ไม้บกตระกูลปาล์มที่ปรับตัวจนสามารถอยู่ได้ในน้ำเค็ม

วิถีชีวิตมนุษย์ริมแม่น้ำบางปะกง
วิถีชีวิตมนุษย์ริมแม่น้ำบางปะกง

วิวัฒนาการที่เกื้อกูลชีวิต
เช่นเดียวกับบรรดาพันธุ์ไม้เด่นต่างๆ ในป่าชายเลน ต้นจากก็มีวิวัฒนาการมาไกล อันที่จริงต้นไม้ในป่าชายเลนทุกสายพันธุ์ไม่ได้เกิดมาในพื้นที่น้ำท่วมตลอดเวลา แต่มันปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันการเติบโตบนบกซึ่งต้องแย่งชิงพื้นที่มาก และเมื่อตัดสินใจลงมาอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง มันก็ยังต้องต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดได้อีกหลายเรื่อง เช่น การปรับตัวเพื่อลดการสูญเสียน้ำจืดที่หาได้ยาก ใบจึงมีลักษณะอวบน้ำเพื่อเก็บความชื้นไว้ให้มากที่สุด ผิวใบมีความมันวาวเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการระเหยหรือการคายน้ำ

แม้จากจะปรับตัวมาอยู่ในน้ำเค็มได้แล้ว แต่พืชป่าชายเลนก็ต้องใช้น้ำจืดในการดำรงชีพ มันปรับตัวให้ปากใบอยู่ด้านใต้ใบเพื่อลดการคายน้ำให้น้อยที่สุด และการที่รากดูดน้ำเค็มขึ้นมาเลี้ยง มันก็ต้องมีเซลล์ที่ขับเกลือออกเพื่อแยกเอาแต่น้ำจืดมาใช้ บริเวณปากใบของต้นไม้ป่าชายเลนจึงมีต่อมขับเกลือออกจากต้น และอาจมีต่อมขับเกลือในส่วนอื่นๆ ของลำต้นด้วย กลไกการทำงานหนักเหล่านี้ทำให้ไม้ป่าชายเลนมีความหนาแน่นของใบสูง ซึ่งช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบกถึง 3-4 เท่า ในขณะเดียวกันก็สร้างออกซิเจนให้แก่บริเวณโดยรอบอย่างมหาศาล

ระบบรากเป็นองค์ประกอบแรกที่สังเกตเห็นได้ชัดในพืชป่าชายเลน ต้นไม้ที่ขึ้นในพื้นที่ดินเลนน้ำท่วมถึงต้องเผชิญปัจจัยที่สำคัญสองเรื่อง หนึ่ง-ความไม่มั่นคงของดินและการกัดเซาะของกระแสน้ำ คลื่น ลม และสอง-สภาวะขาดแคลนอากาศในดิน รากจึงปรับตัวเองมาค้ำจุนพยุงลำต้น และเป็นเครื่องมือช่วยหายใจในสภาพดินที่ขาดแคลนอากาศ ตัวอย่างเช่น รากต้นโกงกางมีระบบรากค้ำจุนและรากอากาศที่โยงใยเต็มรอบต้น กลายเป็นสัญลักษณ์ของป่าชายเลนจนมักเรียกว่า ป่าโกงกาง

ป่าจาก ริมแม่น้ำบางปะกง
ป่าจาก ริมแม่น้ำบางปะกง

แต่ต้นจากไม่มีรากค้ำจุนหรือรากหัวเข่า ไม้บกตระกูลปาล์มที่ปรับตัวมาอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ มีระบบรากฝอยที่แตกออกจากด้านล่างของลำต้นซึ่งฝังอยู่ในดิน รากมีขนาดยาว และมีจำนวนมาก กระจุกอยู่รอบลำต้นที่อยู่ใต้ดิน

กายภาพของรากต้นจากจึงเสมือนเขื่อนธรรมชาติที่แผ่ออกเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ยึดดินริมน้ำให้อยู่ตัว ลดความรุนแรงจากอุทกภัย และยังเป็น bio-filter ตะแกรงธรรมชาติที่กักสิ่งปฏิกูลต่างๆ จากบกก่อนไหลลงทะเล ในหมู่บ้านประมงหลายแห่งเราจะสังเกตเห็นว่ามีคราบน้ำมันจากเครื่องยนต์เรือรั่วไหล แนวเขื่อนธรรมชาตินี้จะช่วยดูดซับคราบสกปรกไว้ก่อนไหลออกสู่ทะเล

ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหาร เป็นทั้งที่อยู่ ที่กิน ที่วางไข่ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนหลากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ความหนาแน่นของกอจากยังทำให้เกิดห้องหับตามธรรมชาติ เป็นร่มเงาให้แก่ลำน้ำ ทำให้อุณหภูมิน้ำไม่ร้อนจัด เหมาะกับการแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ ซากแมลงที่ตายอยู่ตามตีนกอจากก็กลายเป็นอาหารสัตว์น้ำ ลำต้นที่ขึ้นทึบเป็นแถวยาวติดต่อกันไป กลายเป็นที่อยู่อาศัย (habitat) ของสัตว์ต่างๆ และเป็นทางเชื่อม (corridor) ของสัตว์ในการเคลื่อนที่ อย่างเช่น นกกระเต็น ซึ่งเป็นดัชนีหนึ่งในการบอกถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ

ป่าจาก ริมแม่น้ำบางปะกง
ป่าจาก ริมแม่น้ำบางปะกง

พืชเศรษฐกิจที่ไม่เคยจากเราไป
เนิ่นนานมาแล้วที่ผู้คนในชุมชนสามน้ำได้พึ่งพาจากเป็นพืชเศรษฐกิจ แทบจะไม่มีพืชป่าชายเลนชนิดใดเทียบเท่าได้กับจาก ในด้านคุณค่าอาหารและคุณประโยชน์ใช้สอย ตั้งแต่ใบ ดอก ผล จนถึงราก

แต่เมื่อพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกปรับตัวกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมสมัยใหม่ วิถีชีวิตในชุมชนต่างๆ ก็เปลี่ยนไป การใช้ประโยชน์ต้นจากในแต่ละชุมชนเหลือไม่กี่ครอบครัว ไม่ครอบคลุมเหมือนเมื่อ 40 ปีก่อน คือก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลอย่างบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ที่เห็นว่ายังมีการใช้ประโยชน์ต้นจากก็เช่น ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา กับตำบลบางด้วน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าจาก ผู้คนยังพึ่งพาประโยชน์จากต้นจาก แต่ก็ไม่มีข้อมูลการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ อาจจะเป็นเพราะสเกลเล็กเกินไปจึงขาดแรงดึงดูดในการรวบรวม รวมทั้งไม่มีข้อมูลเผยแพร่ว่าทุกวันนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงเหลือป่าจากจำนวนเท่าใด

ในขณะที่ภาคใต้เป็นชายฝั่งทะเลยาวทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกกลืนเป็นแหล่งอุตสาหกรรม การใช้ประโยชน์ต้นจากจึงเห็นชัดเจน ทั้งยังมีงานวิจัยที่ช่วยให้เห็นภาพของป่าจากในฐานะพืชเศรษฐกิจของชุมชน เป็นงานวิจัยในตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช* ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในลุ่มน้ำปากพนัง มีป่าจากผืนใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

ปัจจุบัน ตำบลขนาบนากเป็นชุมชนที่มีการปลูกจากและทำน้ำผึ้ง (น้ำตาลจาก) มากที่สุดในภาคใต้ (และอาจมากที่สุดในประเทศไทย) สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี แล้วแต่ว่าครัวเรือนนั้นใช้ประโยชน์ส่วนใดของจาก บ้านที่ทำน้ำผึ้งจากอาจมีรายได้วันละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ในช่วงฤดูทำน้ำตาล เพราะราคาน้ำตาลปี๊บๆ ละ 1,100-1,300 บาท (25 กก.) น้ำตาลผง กิโลกรัมละ 120 บาท น้ำตาลขวด ขวดละ 60 บาท บางครอบครัวก็มีเวลาแค่แปรรูปจากใบจาก ตั้งแต่หลังคาจาก (กลุ่มลูกค้าคือรีสอร์ต) จนถึงเครื่องจักสานที่ใช้ใบจาก

เส้นทางท่องเที่ยวขนาบนาก
เส้นทางท่องเที่ยวขนาบนาก

โมเดลการท่องเที่ยวป่าจาก
สรุปผลการวิจัยดังกล่าวพบว่า ป่าจากมีความสำคัญและมีคุณค่าที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชน 5 ด้าน คือ (1) การอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น (2) การเป็นวัตถุดิบในการประกอบการอาหาร (3) การเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ (4) การเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และ (5) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว

ในโครงการวิจัยนี้ได้พัฒนาโมเดลการท่องเที่ยวป่าจากโดยให้ชาวบ้านเป็นนักสื่อความ มีผู้แทนจากชมรมมัคคุเทศก์ ผู้แทนจากโรงแรมในอำเภอปากพนัง และนักศึกษา เข้าร่วมโครงการไม่เกิน 20 คน/กลุ่ม เส้นทางท่องเที่ยวเป็นวงรอบระยะทางรวม 14.6 กิโลเมตร

*อ่านงานวิจัยเพิ่มเติมใน Sustainable Nipa Palm (Nypa fruticans Wurmb.) Product Utilization in Thailand by Onanong Cheablam and Boontaree Chanklap. Hindawi Research-journal Publisher. 25 Sept 2020. https://www.hindawi.com/journals/scientifica/2020/3856203/
และ Nipa Palm: Natural Resources and Tourist Destination of Khanap Nak Comminity, Nakhon Si Thammarat Province, Onanong Cheablam. 8 October 2018. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/abcjournal/article/download/156254/113397/425746

ป่าจาก และวิถีชีวิตริมแม่น้ำบางปะกง
ป่าจาก และวิถีชีวิตริมแม่น้ำบางปะกง

ภัยคุกคาม
เวลาที่มีการพูดถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน ส่วนใหญ่มักจะเห็นภาพโกงกาง ต้นจากมักจะอยู่อันดับท้ายๆ ทั้งที่มีความสำคัญไม่แพ้ไม้ประเภทอื่น

ภัยคุกคามป่าจาก ก็เช่นเดียวกับการคุกคามระบบนิเวศป่าชายเลนที่เราได้ยินมาโดยตลอด เช่น การเปลี่ยนแปลงผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ หรือการสร้างท่าเทียบเรือ สร้างถนน โครงการก่อสร้างต่างๆ มักทำให้พื้นที่ป่าชายเลนถูกทำลาย หรือถูกตัดแยกออกจากกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของกระแสน้ำและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้

การทำเกษตรกรรมและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็เป็นภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นสูงที่สุด ทุกวันนี้พื้นที่ป่าชายเลนหลายแห่งทั่วประเทศ ก็ยังถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อใช้ในการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน การทำบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำโดยขุดคันดินเป็นบ่อขนาดใหญ่

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหลายด้าน เช่น ทำให้อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น (มีผลต่อการอาศัยของสัตว์น้ำ) ปริมาณธาตุอาหารลดลง ความเค็มเพิ่มขึ้น น้ำขุ่น และการชะล้างพังทลายของดินริมฝั่งริมตลิ่ง

ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทั้งหมดนี้ มีผลต่อสัตว์น้ำทุกชนิดที่อาศัยเกิด กิน อยู่ เติบโต และท้ายที่สุดก็วนกลับมามีผลกระบบต่อชีวิตของคนที่พึ่งพาป่า ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

#ป่าจาก #เศรษฐกิจจากป่าจาก #ป่าชายเลน #แม่น้ำบางปะกง #อยู่ดีกินดี #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

อ้างอิง:
• เพจ EnLive Foundation-มูลนิธิเอ็นไลฟ์ https://web.facebook.com/enlivefoundation/posts/3044624592242868/?locale=th_TH
• ดูรายชื่อพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในประเทศไทยในเพจ คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง https://km.dmcr.go.th/c_11/d_3072)

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง