เด็กรุ่นนี้น่าจะไม่รู้จักชื่อ “ปลาอีกง” แต่ถ้าบอกว่าปลากด อาจจะร้อง อ๋อ!! แต่ปลาอีกงกับปลากดไม่ใช่ปลาเดียวกัน มันแค่ร่วมวงศ์เดียวกันเท่านั้น แล้วถ้ายังไม่รู้จักปลาอีกง ก็อาจจะหมดโอกาสรู้จักแล้ว เพราะปลาอีกงในแหล่งน้ำธรรมชาติแทบสูญพันธุ์แล้ว
ตำนานเกี่ยวกับบางปะกงเรื่องหนึ่งบอกว่า ชื่อบางปะกงนี่น่าเพี้ยนมาจาก “บางมังกง” เพราะแม่น้ำสายนี้เคยอุดมด้วยปลาชนิดนี้
ปลาอีกงมีหลายชื่อ เช่น ปลามังกง (ไม่ใช่มังกรนะครับ) ปลาแขยงกง เพราะหน้าตาเหมือนปลาแขยง ที่เป็นอย่างนี้เพราะปลาอีกงเป็นปลาหนังในวงศ์ปลากด (Bagaridae) ซึ่งมีประมาณ 200 ชนิด พบในแหล่งน้ำจืด/น้ำกร่อยในเขตร้อนทั่วโลก และเป็นกลุ่มปลาหนังที่พบมากที่สุดในไทย โดยพบมากกว่า 25 ชนิด
ปลาในวงศ์นี้ ถ้ามีขนาดใหญ่ เรียกปลากด มีบันทึกการพบปลากดในอินเดียและลุ่มน้ำสาละวินที่มีขนาดยาวถึง 2 เมตร ถ้าเล็กลงมาประมาณ 1-2 ฟุต เรียกปลาแขยง ปลาแขยงกง (หรือปลาอีกง หรือปลามังกง)
ปลาที่อยู่ในวงศ์ปลากดเป็นปลากินเนื้อ และก็เป็นปกติของปลากินเนื้อคือมันจะดุ กบดานนิ่งๆ กับพื้นน้ำได้นานๆ เพื่อรอเหยื่อ แล้วก็กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ตัวอ่อนของแมลง ปลาเล็ก กุ้งเล็ก และซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย
ปลาท้องถิ่นแทบทุกชนิดช่วยปรับสมดุลให้ระบบนิเวศในแม่น้ำ ปลาอีกงก็ทำหน้าที่กำจัดสัตว์หน้าดิน และซากสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ตาย รวมทั้งตะไคร่น้ำ อีกอย่างหนึ่งปลาอีกงเป็นปลานักล่า ถ้าที่ไหนมีปัญหาปลาเอเลี่ยนระบาดในบ่อ อย่างเช่นปลาหมอสีคางดำ ปล่อย “นักล่า” ลงไปเลย อีกงจะช่วยตัดตอนการระบาดของพวกปลาเอเลี่ยนได้
ขนาดว่ามันดุอย่างนี้ วันหนึ่งปลามังกงก็หายไปจากแม่น้ำบางปะกง เพราะปลาวงศ์นี้ชอบน้ำสะอาด น้ำไหลถ่ายเท ในวันที่แม่น้ำบางปะกงเริ่มมีปัญหา นับตั้งแต่พื้นที่แถบนี้กลายเป็นเป้าหมายของการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก ปลาอีกงก็ค่อยๆ หายไปจนไม่เห็นอีกเลย
แม้จะหายากในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ก็ไม่ขาดแคลน เพราะอะไรที่ว่าร่อยหรอในธรรมชาติ ลงว่าถ้ากินได้เสียอย่าง มนุษย์ก็จัดให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจขึ้นมา ทุกวันนี้จึงมีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาอีกง หลังจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดเพชรบุรี ได้ทำการศึกษาและเพาะพันธุ์ปลาอีกงจนประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2536 แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ไม่เหมือนปลากะพงที่ขยายตัวและบางปะกงก็ยังเป็นที่ตั้งฟาร์มปลากะพงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย
นอกจากงานวิจัยเพื่อการเพาะเลี้ยงแบบฟาร์มแล้ว ยังมีงานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 7 (ชลบุรี) ศึกษาการเลี้ยงปลาอีกงในบ่อที่ขุดเพื่อใช้น้ำในการทำนาแบบอินทรีย์ โดยทดลองกับเกษตรกรในตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
ปล่อยอีกงลงแม่น้ำ
ความที่ปลาอีกงเป็นปลาสัญลักษณ์ของแม่น้ำบางปะกง เมื่อปี 2561 โรงไฟฟ้าบางปะกงร่วมกับกลุ่มเยาวชนจากโครงการเยาวชนต้นกล้าโรงไฟฟ้าสีเขียว ทำโครงการศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาอีกง และทดลองนำมาเลี้ยงภายในบ่อพักน้ำทิ้งรวมบริเวณโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง ชุดที่ 5 ที่ผ่านการบำบัดแล้ว โดยเลี้ยงรวมกับปลากะพงขาว ปลานิลแดง ก็พบว่าลูกปลาอีกงเติบโตได้ดี พออายุได้ 6 เดือนก็ปล่อยคืนสู่แม่น้ำบางปะกง เพื่อหวังให้เกิดการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ
ไม่แน่ใจว่ามีการติดตามถึงอัตราการรอดตายอย่างไร ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับโรงไฟฟ้าบางปะกงก็จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ตอนนี้ก็ได้แต่ตั้งความหวังแม่น้ำบางปะกงจะไม่เลวร้ายไปยิ่งกว่านี้ เพื่อว่าปลาอีกงจะได้หวนคืนกลับมาเป็นเจ้าแห่งสายน้ำนี้อีกครั้ง
TAGS #ปลาอีกง #ปลามังกง #ปลาแขยงกง #ปลาสัญลักษณ์แม่น้ำบางปะกง #แม่น้ำบางปะกง #อยู่ดีกินดี #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
อ้างอิง
https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20161206104245_file.pdf
https://www.banmuang.co.th/news/economy/117125
https://www.khaosod.co.th/economics/news_1041999
ภาพจาก https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/view_activities/102/63632