สถานการณ์ท้องทะเลไทยในวันโลกเดือดตอนที่ 2: ความสมบูรณ์ ณ ก้นอ่าวไทย

อ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของภูมินิเวศทะเลจีนใต้ ลากเส้นตั้งแต่อ่าวไทยตอนบนตรงที่เรียกว่า “อ่าว ก.ไก่” ไปทางตะวันออกเฉียงใต้สุดที่แหลมกาเมา หรือแหลมญวณ ประเทศเวียดนาม ด้านตะวันตกลากลงใต้ไปสุดที่เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย
ความสมบูรณ์ ณ ก้นอ่าวไทย

แต่ถ้านับเฉพาะที่เป็นน่านน้ำไทย มีการแบ่งอ่าวไทยออกเป็น 3 ตอน ตอนบน หมายถึง พื้นที่ทะเลตั้งแต่ระหว่างจังหวัดตราดถึงประจวบคีรีขันธ์ ตอนกลาง คือส่วนที่ต่อจากประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช และตอนล่างคือยาวไปสุดชายแดนไทยที่จังหวัดนราธิวาส

พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่ตอนบนจนถึงตอนล่างกว่าสองแสนตารางกิโลเมตร ความยาวชายฝั่งตั้งแต่ตอนบนถึงตอนล่างประมาณ 2,000 กิโลเมตร ส่วนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำมากที่สุดคือบริเวณอ่าวไทยตอนบน เรียกว่า “ก้นอ่าวไทย” เนื่องจากเป็นจุดที่มีความลึกที่สุดคือประมาณ 58-85 เมตร บริเวณนี้เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ประกอบด้วยปากแม่น้ำใหญ่ 4 สาย คือแม่น้ำเพชรบุรี (อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี) แม่น้ำแม่กลอง (อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม) แม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน (อ.เมือง จ.สมุทรสาคร) และแม่น้ำบางปะกง (อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา) 

นี่คือพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในน่านน้ำอ่าวไทย ซึ่งเริ่มจากฝั่งตะวันตกที่ปลายแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ลากเส้นสมมุติความยาวเกือบ 100 กิโลเมตร ข้ามทะเลไปถึงปลายแหลมเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี กินพื้นที่กว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งส่วนที่ลึกเข้าไปในแม่น้ำจนถึงจุดที่น้ำทะเลเข้าไปถึง ได้แก่ อำเภอบางปะกง อำเภอแปดริ้ว (จังหวัดฉะเชิงเทร) อำเภออัมพวา (จังหวัดสมทุรสงคราม) และตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง (จังหวัดสมุทรปราการ) ทั้งหมดนี้อยู่ในภูมินิเวศแบบน้ำกร่อย คือโซนพื้นที่ที่น้ำจืดในแม่น้ำ และน้ำเค็มในทะเล มีอิทธิพลต่อกันอย่างใกล้ชิด

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เดนมาร์กส่งเรือสำรวจทางวิทยาศาสตร์ (Galathea expeditions) เข้ามาสำรวจพื้นที่ชายฝั่งทั้งสามมหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ พืช และมานุษยวิทยาครั้งใหญ่ที่สุดที่มีมา และหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่มีการค้นพบคือ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา (บริเวณอ่าว ก.ไก่) เป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงสุดเท่าที่เส้นทางการเดินเรือสำรวจพบ เนื่องจากบริเวณก้นอ่าวไทยที่ว่า เป็นจุดรวมของธาตุอาหารเข้มข้นที่มาจากแม่น้ำสำคัญดังกล่าวที่ไหลมารวมกัน 

ความสมบูรณ์ขีดสุดที่มีการสำรวจพบนั้น เป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นกระแสน้ำที่ผ่านผืนป่าต่างๆ ยังไม่มีปัญหาการทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำ ยังไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีภาคการเกษตร 

จนกระทั่งเขื่อนแห่งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2495 (เขื่อนเจ้าพระยา-จ.ชัยนาท) ตามมาด้วยเขื่อนต่างๆ ที่สร้างต่อมาเพื่อกั้นลำน้ำสำคัญทุกสายที่ไหลลงอ่าวไทย ตามมาด้วยสภาวะมลพิษทางน้ำ การประมงแบบทำลายล้าง ภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นโลกเดือด จนทำให้อากาศแปรปรวน อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จนมีการประเมินว่าอาจมีปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ 

หลังจากการสำรวจมา 70 ปี มาถึงวันนี้ ก้นอ่าวไทยยังหลงเหลือความอุดมสมบูรณ์อยู่สักแค่ไหน?

ความสมบูรณ์ ณ ก้นอ่าวไทย

ความหลากหลายของพันธุ์ปลาที่ก้นอ่าวไทย

ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักสำรวจชาวอเมริกัน และเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ หรืออธิบดีกรมประมงคนแรกของไทย ได้เขียนถึงการพบปลาฉนากไว้ในหนังสือ “ปลาน้ำจืดไทย” (The Freshwater Fishes of Siam or Thailand ตีพิมพ์ พ.ศ. 2488) นับเป็นเอกสารวิชาการฉบับแรกๆ ที่มีข้อมูลเรื่องปลาในอ่าวไทย นอกเหนือจากเอกสารจากวิทยานิพนธ์บางชิ้นที่มีข้อมูลด้านนี้เพียงเล็กน้อย และไม่มีความชัดเจน 

จนกระทั่งปี 2543 ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระและนักวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของปลา ได้รับทุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ BRT (Biodiversity Research and Training Program) เพื่อสำรวจปลาในก้นอ่าวไทยอย่างจริงจัง รวมทั้งศึกษาความหลากหลายของชนิดปลาบู่ในอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่จังหวัดตราดจนถึงเพชรบุรี (หมายเหตุ-ความหลากหลายของชนิดปลาบู่ สามารถเป็นตัวชี้วัดสุขภาพถิ่นอาศัย) ผลสำรวจรอบนั้นพบปลาบู่เกือบ 50 ชนิด ซึ่งถือว่ามากพอสมควร มีตั้งแต่ตัวเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย จนถึงตัวโตๆ อย่างปลาตีนและปลากระจัง 

อาจารย์ได้เขียนสรุปผลการสำรวจพรรณปลาก้นอ่าวไทยจนถึงปัจจุบันว่า พบปลา 380 ชนิด จาก 91 วงศ์ และ 36 อันดับ มีทั้งปลาน้ำกร่อยแท้ๆ ปลาทะเลที่เข้ามาในโซนน้ำกร่อยเป็นครั้งคราว ตัวเลขชนิดปลาจากการสำรวจบอกเราว่า ก้นอ่าวไทยซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ เพียงร้อยละ 0.01 ของพื้นที่ทะเลโลกแห่งนี้ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มีจำนวนชนิดปลามากกว่าร้อยละ 12 ของปลาที่พบทั้งหมดในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นวงศ์ของปลาทะเลที่พบในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลายชนิดคล้ายกับปลาน้ำกร่อยปากแม่น้ำโขง ทะเลสาบสงขลา ปากแม่น้ำในมาเลเซีย และส่วนหนึ่งเป็นวงศ์ปลาน้ำจืด (อ่านรายละเอียดชนิดพรรณปลาที่สำรวจพบได้ใน บ้านของปลาก้นอ่าวไทย https://www.nstda.or.th/sci2pub/fish-gulf-of-thailand-2/)

หลังจากปี 2559 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่อาจารย์เกษียณแล้ว และมักลงพื้นที่สำรวจบริเวณปากน้ำบางปะกงและปากแม่น้ำเพชรบุรี พบว่า แม่น้ำสองสายนี้ยังสุขภาพดีกว่าแม่น้ำท่าจีนและแม่กลองที่เผชิญกับภาวะเน่าเสียแทบทุกปี แต่ละครั้งมีปลาตายจำนวนมาก และปลาที่เปราะบางก็มักตายจนหมด เช่น ปลากะโห้ ปลายี่สก ที่สูญพันธุ์ไปจากแม่กลอง เพราะน้ำเน่าจากโรงงานน้ำตาลและโรงงานอุตสาหกรรมในราชบุรี ส่วนปลากระเบน แม้จะตายมาก แต่ก็ยังพอมีเหลือ เพราะบางส่วนว่ายหนีออกทะเลได้ นอกจากนั้นในลุ่มน้ำแม่กลองยังมีเขื่อนนับสิบแห่ง ซึ่งทำให้ธาตุอาหารในแม่น้ำลดลง และกีดขวางการกระจายตัวอย่างอิสระของสัตว์ตามลำน้ำ

อาจารย์ให้สัมภาษณ์ว่าในรอบ 20 ปีของการสำรวจ พบว่าปลาก้นอ่าวไทยน้อยลงมาก ทั้งชนิดและปริมาณ ปลาหลายอย่าง เช่น ปลาหางกิ่ว ปลากระเบนธง ที่เมื่อก่อนหาไม่ยาก และมีวางขายเต็มตลาด ทุกวันนี้ก็พบน้อยมาก ปลาน้ำจืดและปลาทะเลหลายชนิด อย่างเช่น ปลาฉนาก ปลาฉลามบางชนิดหายไปแล้ว และไม่เคยพบอีก กุ้ง หอย ปู น้อยลง และกุ้งส่วนใหญ่ที่กินกันก็เป็นกุ้งเลี้ยง

ปลาธรรมชาติที่น้อยลงเรื่อยๆ แสดงถึงความอ่อนล้าของทะเล แต่ถึงกระนั้น สัตว์น้ำอื่นๆ พวกกุ้ง หอย ปู รวมถึงผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแม่น้ำและชายฝั่ง โดยเฉพาะกุ้ง หอยแครง และหอยแมลงภู่ ก็ยังมีเพียงพอในการเลี้ยงคนทั้งประเทศ 

ถึงจะอ่อนล้าเพียงใด แต่อ่าวไทยตอนบนก็ยังคงเป็นบ้านที่สมบูรณ์ที่สุดของปลาตั้งแต่ขนาดตัวเล็กเท่านิ้วปลายก้อยอย่างปลาในวงศ์ปลาบู่ (เช่น ปลาตีน/จุมพรวด) จนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุด คือวาฬ 

บริเวณก้นอ่าวไทยยังเป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ (ปีละเก้าแสนตัน) เป็นเส้นทางอพยพและพักพิงของนกชายเลนที่สำคัญระดับโลก ป่าชายเลนบางแห่งในบริเวณนี้ยังเป็นถิ่นอาศัยของเสือปลาที่เหลือประชากรอยู่จำนวนน้อยมาก 

ปลาเกือบ 400 ชนิดที่มีการสำรวจพบในรอบ 20 ปี (2543-2563) อาจมีบางชนิดที่สูญพันธ์ไปแล้วในวันนี้ ถึงอย่างนั้น อาจารย์ชวลิตก็สรุปว่า ในภาพรวม คุณภาพน้ำก้นอ่าวไทยก็ยังพอใช้ได้ แต่ต้องดูแลปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แม้จะเจอชนิดปลาโดยรวมน้อยลง แต่ในพื้นที่ก็ยังมีปลาตระกูลกระเบนและฉลามซึ่งเป็นผู้ล่าข้างบนของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำที่ดีและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะที่แม่น้ำบางปะกง

TAGS #ก้นอ่าวไทย #ปลาทะเลไทยใกล้สูญพันธุ์ #เซฟทะเลไทย #อยู่ดีกินดี #แม่น้ำบางปะกง #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า 

อ้างอิง

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง