สถานการณ์ท้องทะเลไทยในวันโลกเดือด ตอนที่ 1: เมื่อ ป.ปลา หายากขึ้น

มหานทีเป็นขุมทรัพย์ที่มนุษย์ตักตวงมานับหมื่นปี นับตั้งแต่เราเลิกเก็บหาของป่าล่าสัตว์มาปักหลักอยู่กับที่พร้อมการเพาะปลูก มหาสมุทรทั้ง 5 และทะเลทั้ง 22 ในโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากกว่าสองแสนสปีชีส์นี้ กลายเป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนของผู้คนทั้งโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน

เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานเชื้อเพลิงที่ก่อเกิดกิจกรรมจนสร้างสังคมสมัยใหม่ ท้องน้ำเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอนซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโต เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าชั้นบรรยากาศถึง 50 เท่า โดยเป็นผลมาจากแพลงก์ตอนและพืชน้ำในมหาสมุทรที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ในการสังเคราะห์แสง และปล่อยออกซิเจนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ และกว่า 70% ของออกซิเจนในอากาศที่เราหายใจก็มาจากแพลงก์ตอนที่อยู่ในมหาสมุทร

26 กันยายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันอนุรักษ์ทะเลโลก” แต่ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน ทะเลป่วยหนักแล้ว นักวิชาการบอกว่า อุณหภูมิในมหาสมุทรที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์มีผลกระทบต่อทุกชีวิต ทั้งที่อาศัยอยู่ในท้องนที และอาศัยในฐานะเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหาร จนถึงเป็นหนึ่งในสมการของสภาพอากาศ นี่เป็นสถานการณ์โลกที่น่าตระหนก แต่มีสักกี่คนที่รู้สึกหวาดหวั่นอย่างลึกซึ้ง การพูดถึงทะเลและมหาสมุทรทั้งโลกช่างไกลตาไกลตัว

แล้วถ้าเราซูมให้ใกล้เข้ามาเหลือเฉพาะแค่ชามข้าวตรงหน้า จำกัดวงแค่ทะเลไทยล่ะ เราจะมองเห็นความบอบช้ำของท้องทะเลแบบใดบ้าง?


ความมั่นคงด้านทรัพยากรอาหาร

เราได้ยินมาตลอดว่าท้องทะเลไทยป่วยหนัก และเผชิญสภาวะความมั่นคงด้านทรัพยากร อาหารจากท้องทะเลที่ผู้คนนิยมบริโภคลดลงเรื่อยๆ และมันจะ “หมด” ในอนาคตอีกไม่นานนี้

การลดลงของสัตว์ทะเลไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดสวิตช์ชีวิตชาวประมง และผู้คนในชุมชนชายฝั่งทะเล ริมคลองป่าชายเลน ลองนึกย้อนดูว่าเมื่อ 30 ปีก่อน อาหารเป็นสิ่งหนึ่งที่แยกแยะฐานันดรได้จนมีคำกล่าวว่าคนรวยกินไก่ คนจนกินกุ้ง เดี๋ยวนี้คนจนหมดสิทธิ์กินกุ้ง เพราะกุ้งไม่ได้หาง่ายๆ ในคลองชายเลนอีกแล้ว ปลาทูที่เคยคู่กับน้ำพริกของคนจนก็เป็นกับข้าวของคนชั้นกลาง รวมถึงอาหารทะเลอีกหลายอย่างที่มีคนไม่กี่กลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้

ข้อมูลจากกรมประมงเมื่อปี 2563 บอกว่าผลผลิตประมงของไทยในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 2553-2562) ลดลงมาตลอด จาก 2 ล้านตันกว่าต่อปี เหลือล้านกว่าตันต่อปี มูลค่าเงินจาก 158 ล้านกว่าบาทต่อปี เหลือ 92 ล้านกว่าบาทต่อปี โดยสรุปคือลดลงร้อยละ 2.10 ต่อปี

ย้อนหลังจากไปในยุคเริ่มแรก ช่วงก่อนปี 2503 เรายังใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ใช้เรือประมงขนาดเล็กแบบไม่มีเครื่องยนต์ ต่อมาก็รับเอาเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นเพื่อดัดแปลงเรือประมงให้จับปลาผิวน้ำได้มากขึ้น ผลผลิตสัตว์น้ำในช่วงยุคแรกนั้นอยู่ระหว่าง 150,000-230,000 ตันต่อปี สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นปลาผิวน้ำพวกปลาทู ปลาลัง ปลาหลังเขียว และปลากะตัก ทั้งหมดล้วนบริโภคภายในประเทศ

อีก 20 ปีถัดมา การขยายตัวด้านการประมงทะเลเป็นไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีและเครื่องมือประมงมุ่งไปเพื่อปริมาณ และการส่งเสริมประมงพาณิชย์ก็เพื่อให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้มากๆ เรือทุกลำติดเครื่องยนต์ อวนไนล่อนตาถี่ก็มา ประมงกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดยักษ์เมื่อไทยมีเป้าหมายจะเป็นครัวของโลก เรามีห้องเย็นบนเรือ มีโรงงานแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำในชุมชนชายฝั่ง มีการสำรวจแหล่งประมงใหม่ๆ (โดยภาครัฐ) เช่น แหล่งทำประมงในทะเลจีนตอนใต้ พร้อมนโยบายสนับสนุนการพัฒนาประมงนอกชายฝั่งหรือประมงทะเลลึก

แล้วเราก็ก้าวไปถึงการจับสัตว์น้ำในปริมาณหลักล้านตันต่อปี จนเมื่อถึงทศวรรษ 2550 กราฟที่เคยพุ่งสูงก็ค่อยๆ ไต่ลง ในปี 2551 เราเคยจับปลาทูได้ 112,557 ตัน พอถึงปี 2561 เหลือเพียง 17,655 ตัน หรือลดลงกว่า 6 เท่า

การที่ปลาทะเลลดลง เกิดจากประมงทำลายล้างโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เช่น เครื่องปั่นไฟ อวนรุนกับเรือยนต์ การใช้อวนตาเล็กกว่าที่กฎหมายกำหนด กวาดปลาเล็กปลาใหญ่ขึ้นมาพร้อมกันจากท้องทะเล ไม่เหลือไว้ให้สืบพันธุ์ การจับปลาเกินขนาดที่เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่โตเต็มวัยผสมพันธุ์


กลยุทธ์การตลาดหนึ่งที่น่าละอายคือ การเรียกชื่อผลิตภัณฑ์จากลูกปลาในชื่อที่ต่างออกไป เช่น เรียกลูกปลาทูว่าปลาทูแก้ว เรียกลูกปลากะตักว่าปลาสายไหม ปลาข้าวสาร ปลาจิ้งจั้ง (ปลาฉิ้งฉ้าง) ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ซื้อเลย เพราะขนาดลูกปลาน่าเอ็นดู ไม่รู้สักนิดว่าแท้จริงนี่คือลูกปลาที่ยังโตไม่เต็มที่

ตราบใดที่ยังมีคนซื้อ ก็ยังมีคนขาย ทั้งแขวนขายตามร้านและขายออนไลน์ มีคนขายก็มีคนซัพพลายมาให้ เป็นหลักอุปสงค์อุปทานตามตำรา

ในประเทศที่มีการให้ความรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้บริโภคจะเข้าถึงสิทธิการบริโภค นิยามนี้หมายถึง การซื้อสินค้าที่สะอาดปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูลแหล่งที่มาของอาหาร การเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปกป้องทะเล จนถึงการเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยที่ภาครัฐมีกระบวนการในการรับข้อร้องเรียนและตรวจสอบอย่างโปร่งใส พร้อมแนวทางแก้ไข

เราจะไปถึงจุดนี้ได้เมื่อไหร่?

เป็นการยากที่เราจะตอบคำถามนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะอยู่นิ่งๆ แบบไร้ความหวัง เมื่อยังพึ่งพากลไกหลักไม่ได้ เฟืองย่อยแบบเราก็ต้องเคลื่อน โดยการปรับ+เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จากหนึ่งเป็นสอง จากสองบอกต่อกันไปเรื่อยๆ

ทันทีที่เริ่มต้น เราคือ “พลังหนึ่ง” ที่ช่วยปกป้องทะเลไทย

เรียนรู้เรื่องการประมงทำลายล้าง และการบริโภคแบบรับผิดชอบเพื่อปกป้องท้องทะเล ได้จากคู่มือ “จาก ‘เล สู่จาน A Guide to Sustainable Seafood” จัดทำโดยองค์กรกรีนพีซ https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2021/07/886abb05-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%99.pdf

TAGS #สถานการณ์ทะเลไทย #อ่าวไทย #อาหารทะเล #อยู่ดีกินดี #แม่น้ำบางปะกง #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า #เมื่อปลาหายากขึ้น

อ้างอิง

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง