ร้านค้าออนไลน์หลายเพจมักโฆษณาอาหารตากแห้งที่แพคใส่ถุงว่า “กุ้งเคย” แต่เคยก็คือเคย กุ้งก็คือกุ้ง “เคย” ไม่เคยเป็นกุ้ง ทว่าก็เป็นที่เข้าใจดีว่า ถ้าไม่อาศัยคำว่ากุ้งมาช่วย อาหารแบบเคยตากแห้งอาจไม่คุ้นเคยของใครหลายคน
เคยกับกุ้งเป็นสัตว์ทะเลกลุ่มหนึ่งที่มีวิวัฒนาการร่วมกัน และอยู่ในไฟลัมย่อยกลุ่มครัสเตเชียน (Crustacea) เหมือนกัน ครัสเตเชียน หมายถึง สัตว์น้ำประเภทกุ้ง กั้ง ปู ที่มีเปลือกหุ้มตัว ลำตัวเป็นปล้อง มีระยางก์ยื่นออกมาเป็นคู่ (หนวด ขากรรไกร ขาเดิน ขาว่ายน้ำ) เมื่อโตขึ้นจะสลัดเปลือกเดิมแล้วสร้างเปลือกใหม่

เคยแยกแยะจากกุ้งได้ไม่ยาก นอกจากตัวเล็กกว่ากุ้งแล้ว กุ้งยังสามารถแยกส่วนที่เป็นคางออกจากส่วนที่เห็นหัว แต่เคยไม่มีคาง หัวกับตัวต่อกันเลย หัวของกุ้งจะมีแผ่นปิดเหงือกแต่เคยไม่มี กุ้งมีกรีแหลมตรงหัว (กินแล้วแทงปาก) แต่ส่วนหัวของเคยเกลี้ยงเกลา
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกล่าวเสมอว่า เคยคือตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าชายเลนรวมถึงท้องทะเล อิทธิพลของน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำลำคลองที่ออกสู่ทะเลมีความสมบูรณ์ บริเวณปากแม่น้ำที่มีเคยชุกชุมย่อมหมายถึงนิเวศริมชายฝั่งคุณภาพดีมีแร่ธาตุสารอาหาร สัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิดก็เติบโตได้เพราะเคยเป็นแหล่งอาหาร ในขณะที่เคยอาศัยแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร หากระบบนิเวศคุณภาพดี เคยขยายพันธุ์จำนวนมากหลังฤดูฝน
ที่บางปะกง เมื่อเริ่มเข้าหน้าฝน ในช่วงน้ำตายหรือน้ำนิ่ง (ช่วงที่ความสูงของน้ำขึ้นกับน้ำลงมีระยะต่างกันน้อยมาก) ตั้งแต่ 5 ค่ำไปจนถึง 9 ค่ำ เคยจะอยู่รวมกลุ่มกันในป่าชายเลน ไม่เคลื่อนที่ไปไหนไกลประมาณ 3 เดือน คนประมงจะเอาเรือออกไปแถวริมป่าชายเลนแต่เช้ามืดเพื่อไปรอช้อนเคย โดยสังเกตจากความขุ่นหรือใสของน้ำ ถ้าน้ำขุ่นก็แปลว่าเคยลอยตัวเหนือหน้าดินแล้วสามารถช้อนได้ ถ้าน้ำใสก็ต้องรอเพราะเคยยังไม่ขึ้น วันไหนเคยเยอะ หรือ “เคยหนา” จะมองเห็นผืนน้ำเต้นกระเพื่อมได้ชัด เมื่อช้อนเคยเสร็จแต่ละรอบ ก็ต้องรอให้น้ำใหม่ในรอบหน้า
ช่วงน้ำใหญ่หรือน้ำเกิด (ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ น้ำทะเลมีการขึ้นและลงมากและเร็ว) เคยจะเคลื่อนออกไปตามกระแสน้ำไกลออกจากฝั่งไปราว 1 กิโลเมตร ถึงตอนนั้น เคยก็จะเป็นอาหารของสัตว์ใหญ่ที่กินแพลงก์ตอน เช่น วาฬ กระเบนราหู รวมทั้งนกทะเลบางประเภทที่กินเคยเพียงอย่างเดียว

คนประมงบางปะกงมีอาหารและรายได้จากการช้อนเคยเพียงฤดูกาลเดียวคือต้นฤดูฝน ต่างจากการช้อนเคยในภาคใต้หาได้เรื่อย ๆ ในป่าชายเลนแทบทุกวันตั้งแต่เดือน 5 – เดือน 7 (ยกเว้นช่วงฝนแล้ง) เพราะหน้าฝนยาว พอถึงเดือน 11 เคยจะขึ้นหนา (มาก) แถวชายฝั่งเพราะเป็นช่วงหมดฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรง
เคยที่คนบางปะกงรู้จัก ได้แก่ เคยตาดำ เคยตาแดง เคยนุ่น สามชนิดนี้ตัวยาวแค่หนึ่งเซนติเมตรกว่า ๆ เปลือกบางใส เนื้อยุ่ยเหมาะทำกะปิ และอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ไอ้โก่ง คือตัวใหญ่แบบน้อง ๆ กุ้ง ชนิดหล้งนี้มักจะต้มและตากแห้งไว้ทำอาหารแทนกุ้งได้สบาย

เคยมีอายุไม่เกิน 1 ปี ช่วงเวลาสามร้อยกว่าวันของสัตว์น้ำน้อยนิดนี้ ได้มอบความอยู่ดีกินดีให้แก่ทุกชีวิตที่อยู่รอบตัวมันเอง
ยิ่งยศ ฐาปนกุลศักดิ์
ผู้เขียน
TAGS #เคย #ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีกินดีของชีวิตและธรรมชาติ #เคยตากแห้ง #กะปิเคย #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
แหล่งอ้างอิง