โลมาอิรวดี ณ ปากแม่น้ำบางปะกง

ต้นปีจนถึงฤดูร้อน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวมักจะมาลงเรือไปดูโลมาอิรวดี
ภาพโลมาอิรวดี ขอขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดย คุณเอกวิทย์ เตระดิษฐ์ ที่มา https://www.seub.or.th/bloging/news/14-irrawaddy-dolphin/

สัตว์ทะเลหายากที่พบได้ในประเทศไทย

วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2409 (ช่วงกลางสมัยรัชกาลที่ 5) ณ ท่าเรือเมืองวิศาขาปัฏฏนัม รัฐอานธรประเทศ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เซอร์ ริชาร์ด โอเวน (20 ก.ค. 2347 – 18 ธ.ค. 2435) นักชีววิทยาและนักบรรพชีวินวิทยาชาวอังกฤษ มองเห็นโลมาชนิดหนึ่งมาป้วนเปี้ยนบริเวณท่าเรือ หน้าตาไม่เหมือนโลมาในทะเลลึก โลมาที่เขาเห็นมีหัวทุย ๆ ปากทู่ ๆ ไม่มีจงอย แถมครีบหลังก็อันกะจิ๊ดเดียว เขาบันทึกสิ่งที่พบ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ “โลมาอิรวดี” ถูกเขียนไว้ในสารบบสิ่งมีชีวิต โดยที่ยังไม่ได้มีชื่อดังว่า

แม้เซอร์โอเวนจะเป็นผู้บันทึกการพบโลมาชนิดนี้คนแรก แต่ตอนนั้นเขาก็ยังไม่มีความรู้เรื่องโลมาชนิดนี้ท่าไหร่ จนกระทั่งมีการพบในลักษณะกลุ่มประชากรครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่สุดของประเทศเมียนมา จึงมีผู้ตั้งชื่อว่า “โลมาอิรวดี” ตามแหล่งที่พบ ไม่มีบันทึกระบุว่าพบปีอะไร แต่การเริ่มศึกษาโลมาอิรวดีอย่างจริงในแหล่งน้ำดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อปี 2545 นี่เอง โดยพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้กระจายตัวในเขตแม่น้ำและทะเลในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่พบโลมาอิรวดีชุกชุมที่สุด คือทะเลสาบจิลิกา รัฐโอฑิศา ทางตะวันออกของอินเดีย และทะเลสาบสงขลา ทางภาคใต้ของไทย

สองโลเคชั่นนี้ดูเหมือนไม่ใกล้กันเลย แล้วน้องเค้าเข้ามายังไง? มาตั้งแต่เมื่อไหร่?

โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา

ราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย บอกว่า แต่เดิมโลมาอิรวดีอยู่ในทะเล แพร่กระจายอยู่ฝั่งอ่าวไทย แต่มีฝูงหนึ่งเข้ามาอยู่ในทะเลสาบสงขลาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว กลายเป็นโลมาในน้ำจืด อาศัยบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนบน ซึ่งช่วงฤดูฝนน้ำค่อนข้างจืดสนิท และช่วงน้ำทะเลหนุนมีความเค็มไม่มาก นับเป็นแหล่งโลมาน้ำจืด 1 ใน 5 แห่งของทั่วโลก ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และไทย  ตอนล่าง (สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, 5 พฤษภาคม 2565)

นอกจากทะเลสาบสงขลา ยังมีโลมาอิรวดีบางกลุ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ หรือแหล่งน้ำที่มีความลึก เช่น แม่น้ำโขง โตนเลสาบ หรือทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดของกัมพูชา (กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ)

โลมาอิรวดีในปากแม่น้ำบางปะกง

โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin, Ayeyarwaddy dolphin ชื่อวิทยาศาสตร์: Orcaella brevirostris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเล จากเอเชียใต้จรดตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อท้องถิ่นแตกต่างกัน บ้านเราเรียกตามลักษณะหัวที่กลม ๆ (เขาว่าคล้ายบาตรพระ) ว่า “โลมาหัวบาตร” คนใต้เรียก “โลมาหัวหมอน” มีลำตัวสีเทาเข้ม ตาขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบบนมีขนาดเล็กมาก รูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว ลำตัวยาวประมาณ 180–275 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 98-159 กิโลกรัม อายุขัยประมาณ 30-50 ปี

ในเมื่อทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทยก็คือทะเลเดียวกัน ไม่แปลกเลยที่จะพบโลมาหัวบาตรบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง

ทะเลและน้ำกร่อยในบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นเขตรอยต่อเศรษฐกิจการประมงของคนชลบุรีและฉะเชิงเทรา ใต้น้ำลึกระดับ 3-10 เมตร เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี สัตว์ป่าคุ้มครองอันดับที่ 138 และสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีประเภทที่ 1 ของไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ชนิดพันธุ์สัตวป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES: Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)

ต้นปีจนถึงฤดูร้อน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวมักจะมาลงเรือไปดูโลมาอิรวดี ซึ่งบริเวณนี้พบประมาณ 40-50 ตัว จากจำนวนทั้งหมด 120 ตัวที่พบในอ่าวไทยตอนใน ชาวประมงรุ่นใหญ่บางคนยังทำหน้าที่เป็น wrangler (ใช้เรียกมัคคุเทศก์ที่พาชมโลมา ที่ “รู้ทาง” เช่น ทางน้ำ ทางหากิน ทางหลบหลีกอันตราย เป็นต้น) พานักท่องเที่ยวชมโลมาอิรวดีในน่านน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงทุกวันนี้

เสียแต่ว่าทุกวันนี้ โลมาอิรวดีแถบนี้หาชมยากเข้าไปทุกที

ด้วยความยาวของลำตัวที่ไม่ถึง 3 เมตร กับการโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำแค่ไม่กี่วินาที การตามหาโลมาอิรวดีก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว wrangler ต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อกะเวลาว่าตอนไหนที่ฝูงโลมาอิรวดีจะออกมากินอาหาร ซึ่งได้แก่พวกปลาดุกทะเล กุ้ง และสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้า 8 โมงถึง 11 โมง

ภัยคุกคาม

ทีมวิจัยจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ใช้เวลาถึง 5 ปี ในการเก็บรวบรวมข้อมูลโลมาอิรวดีในอ่าวไทยตอนใน จากการนับด้วยสายตาสามารถสรุปได้ว่ามีประมาณ 40-50 ตัว และไม่มีแนวโน้มของการเพิ่มจำนวน

การหาสาเหตุโลมาอิรวดีไม่เพิ่มจำนวนยังไม่แน่ชัด ชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก บอกว่า มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่พอจะหาสาเหตุการตายของโลมาอิราวดีแถบนี้ โดยอาศัยข้อมูลเทียบเคียงจากการพบซาก พบว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ตายเพราะโรค เช่น มีพยาธิ ป่วยจนผอมกินอาหารไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งมาจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ส่วนอีกร้อยละ 70 ซากเน่าจนไม่สามารถหาสาเหตุได้ (ข่าวค่ำมิติใหม่ไทยพีบีเอส, 18 ธันวาคม 2565)

ทีมสำรวจยังทำการตรวจคุณภาพน้ำช่วงปากน้ำคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ พบปริมาณออกซิเจนในน้ำเพียง 2 มิลลิกรัมต่อลิตร จากค่ามาตรฐานที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ จำเป็นต้องมีมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงสันนิษฐานว่าการที่โลมาอิรวดีไม่เพิ่มจำนวน น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ รวมถึงปัญหามลพิษทางน้ำ จากขยะและน้ำเสีย ซึ่งเป็นภัยหลักที่คุกคามโลมาอิรวดี

สอดคล้องกับการประเมินของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ระบุว่าบริเวณชายฝั่งตอนบน หรืออ่าวรูปตัว ก หรืออ่าวไทยตอนในที่ติดกับปากแม่น้ำบางกะปง มีโลมาอิราวดีเหลืออยู่ประมาณ 120 ตัว และภัยคุกคามถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดีในปากแม่น้ำบางปะกง คือมลพิษในน้ำ ซึ่งทำให้โลมาอิรวดีอาจย้ายถิ่นอาศัย ชาวประมงในละแวกนั้นก็บอกว่า ไม่ใช่ว่าจะพบซากของโลมาอิรวดีกันบ่อย ๆ นาน ๆ จะเห็นทีหนึ่ง จึงไม่ใช่ว่าจำนวนโลมาอิรวดีลดจำนวนลงเพราะตาย แต่เพราะย้ายถิ่นมากว่า

การออกทะเลพาชมโลมาอิรวดีเคยเป็นงานที่มีอย่างต่อเนื่องในฤดูที่คลื่นลมสงบ แต่ทุกวันนี้การตามหาโลมายากขึ้น wrangler ก็ต้องปรับตัว บริการพานักท่องเที่ยวออกไปทำพิธีลอยอังคารบริเวณปากแม่น้ำ เป็นงานหนึ่งที่พอสร้างรายได้

ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหามลพิษจากน้ำเสียอย่างจริงจัง และเรื่องขยะจากในเมืองที่ไหลมารวมตรงปากแม่น้ำบางปะกง เราจะสูญเสียโลมาอิรวดีซึ่งเป็นเสน่ห์ของอ่าวรูปตัว ก. ไปอย่างถาวร

ที่มาข้อมูล:


บทความโดย : อยู่ดี กินดี

#โลมาอิรวดี #แม่น้ำบางปะกง #อยู่ดีกินดี #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง