โลมาอิรวดีหายใจทางปอด ดำน้ำอึดได้นาน 4-5 นาที แล้วโผล่ขึ้นมาหายใจ แต่ไม่ได้แปลว่าเมื่อโผล่ขึ้นมาหายใจแล้วจะอยู่ที่จุดเดิม เพราะโลมาว่ายน้ำเร็ว ตอนดำน้ำอาจตีห่างออกไปหลายโยชน์ คนที่ไปล่องเรือชมโลมาจึงต้องใจเย็น ช่างสังเกต ไม่เอะอะมะเทิ่ง

โลมาเป็นสัตว์เครียดง่าย ป่วยง่าย ตกใจง่าย โลมาติดอวนตายก็เพราะตกใจ ดิ้นจนอวนรัดตัวจนไม่สามารถโผล่ขึ้นมาหายใจได้ อาหารน้อยเกินไปก็ผอมและป่วยตาย ความที่เป็นสัตว์เซนซิทีฟทำให้ประชากรโลมาอิรวดีบริเวณปากน้ำบางปะกงลดลงทุกปี ประกอบกับการตกลูกน้อยด้วย โลมาตั้งท้องนาน 14 เดือนและออกลูกครั้งหนึ่งแค่ตัวเดียว ช่วงชีวิตของโลมาตัวหนึ่งที่จะอยู่รอดจนถึงอายุขัยในยุคนี้จึงยากมาก ทั้งเรื่องคุณภาพน้ำ การคุกคามถิ่นที่อยู่ และการหดตัวของพื้นที่แหล่งอาหาร



โลมามีอายุขัยประมาณ 30 ปี ตัวโตเต็มวัยความยาวประมาณ 2.75 – 3 เมตร (ใช้วิธีเทียบขนาดโลมากับขนาดเรือ) ส่วนโลมาลูกแรกเกิดความยาวประมาณ 80 เซนติเมตร



ในการสำรวจโลมาอิรวดีแต่ละปีจะใช้เครื่องมือหลายอย่าง ทีมสำรวจจะเดินทางไปกับเรือประมงพื้นถิ่นสองเดือนครั้ง แล่นออกไปไกลจากฝั่งประมาณ 15-20 กิโลเมตร การสำรวจครั้งหนึ่งกินเวลานานเป็นสัปดาห์ โดยวิ่งสำรวจเป็นเส้นซิกแซกไลน์ ใช้ UAV หรือโดรนในการสำรวจภาคอากาศ และระบุอัตลักษณ์ด้วย photo identity (ภาพถ่าย) โดยการสังเกตครีบหลัง (คงคล้าย ๆ ลายนิ้วมือของคน) แต่ละตัวมีเครื่องหมายไม่เหมือนกัน บางตัวครีบบิดงอ บางตัวครีบแหว่ง ฯลฯ ด้วยวิธีสังเกตเครื่องหมายดังกล่าวทีมสำรวจจึงรู้ว่าเป็นประชากรโลมากลุ่มใด



IUCN หรือ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ จัดโลมาอิรวดีในหมวด “Red list” คือใกล้สูญพันธุ์ เพราะจำนวนประชากรน้อยลงทุกปี ๆ ประเทศไทยเพียงจัดไว้ในกลุ่ม “สัตว์หายาก” แม้ผลการสำรวจจะชี้ว่าภัยคุกคามรุนแรงขึ้นทุกปี การขยับตัวให้โลมาอิรวดีเป็นสปีชี่ใกล้สูญพันธุ์มีผลต่อกฎหมายที่โยงกับการทำประมงพาณิชย์ ซึ่งหน่วยงานอนุรักษ์อย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่มีกลไกในการจัดการ แต่ความพยายามผลักดันนี้ดำเนินการมาตลอด เพราะ “หายาก” กับ “ใกล้สูญพันธุ์” มีความเข้มข้นของกฎหมายในการจัดการต่างกัน



นี่อาจเป็นแรงผลักที่มีเป้าหมายร่วมกับความพยายามให้บางปะกงเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ เพื่อให้ความหลากหลายของชีวิตในปากแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งประมงท้องถิ่นได้คงอยู่ร่วมกันได้
TAGS #โลมาอิรวดี #โลมาหัวบาตร #โลมาหัวหมอน #แชร์โลมา #โลมาบางปะกง #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #อยู่ดีกินดีที่แม่น้ำบางปะกง #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
แหล่งอ้างอิง
คุณพัชราภรณ์ เยาวสุต กลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (สมุทรสาคร)