อันที่จริงตำนานเรื่องชื่อ “บางปะกง” มีอยู่สามเรื่อง ตำนานแรกเป็นของนักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “บาง” ซึ่งเป็นคำเก่าแก่ของกลุ่มคนในสุวรรณภูมิ หมายถึง ทางน้ำเล็กๆ ที่ไหลเชื่อมกับทางน้ำที่ใหญ่กว่า แล้วมีชุมชนตั้งอยู่ตรงปากทางน้ำที่เชื่อมกัน ส่วน “ปะกง” เพี้ยนมาจากภาษาเขมรที่ออกเสียงว่า “บ็องกอง” แปลว่า กุ้ง อันเนื่องจากความชุกชุมของกุ้ง เพราะระบบนิเวศสามน้ำที่เป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำสายนี้ แต่เรียกไปเรียกมาก็สนธิรวบเป็น “บางปะกง”

ตำนานที่สอง สันนิษฐานว่ามาจากชื่อ “ปลามังกง” (ซึ่งอาจเลียนเสียงมาจากมังกร-ในตำนานที่สาม) โดยอ้างอิงจากวรรณกรรมเก่าแก่อย่างน้อยสองเรื่อง เรื่องแรกคือ โคลงกำสรวลสมุทร (แต่งขึ้นราวปี พ.ศ. 2025 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) ตอนที่กล่าวรวมถึงปลามังกง ปลาทุกัง และปลาฉลาด “มังกงทุกังฉลาด เห็นโห่” เรื่องที่สองคือ นิราศเมืองแกลง (สุนทรภู่ ประพันธ์ในปี พ.ศ. 2349) ที่เรียกชื่อเต็มว่า “บางมังกง” ระบุว่าเป็นชุมชนหมู่บ้านประมงชาวจีน ที่ก่อตั้งมาระยะหนึ่งแล้วเพราะมีศาลเจ้าเป็นศูนย์รวมจิตใจ
“ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น ดูเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน เหม็นแต่กลิ่นเน่าอบตลบไป
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซงแซ ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย ช่วยคุ้มภัยปาอ่าวเถิดเจ้านาย”
ตำนานที่สามเป็นคำบอกเล่าพื้นบ้าน แลดูเหมือนคนทั่วไปจะชอบใจตำนานนี้เพราะดูขลังอลังการณ์ ตำนานนี้บอกว่าชื่อบางปะกงมาจากกายภาพของสายน้ำที่คดโค้งเหมือนการแหวกว่ายของมังกร สัตว์ในจินตนาการนี้เมื่อพาดผ่านเมืองไหนก็จะอุดมสมบูรณ์ แน่นอนว่าความเชื่อนี้ย่อมมาจากชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงอย่างน้อยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออาจจะตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะการคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมถึงกันหมดจากภาคกลาง

ตำนานสุดท้ายนี้ผนวกกับการที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดจีนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตรงที่เรียกว่าเยาวราช คือวัดเล่งเน่ยยี่ (สร้างปี พ.ศ. 2414) หรือวัดมังกรกมาลาวาส เมื่อจะมีการสร้างวัดหลวงทั้งทีก็ต้องมีการดูฮวงจุ้ย (โดยคณาจารย์จีนวังส์สมาธิวัตร (สกเห็ง) เป็นผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น) พระอาจารย์สกเห็งบอกว่า วัดเล่งเน่ยยี่นี้เปรียบได้กับตำแหน่ง “หัวมังกร” แล้วก็ระบุว่าตำแหน่ง “ท้องมังกร” คือวัดเล่งฮกยี่ (สร้างปี พ.ศ. 2449 ต่อมาได้รับพระราชทานนามในปี 2450 ว่า “วัดจีนประชาสโมสร”) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนตำแหน่ง “หางมังกร” อยู่ที่วัดเล่งฮัวยี่ (สร้างปี พ.ศ. 2520) หรือวัดมังกรบุปผาราม จังหวัดจันทบุรี
ตำแหน่งต่างๆ ที่พระอาจารย์สกเห็ง “วางไว้” เป็นตำแหน่งความอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านทรัพยากรและการทำมาหากิน และในเมื่อแม่น้ำบางปะกงมีความคดเคี้ยวเสมือนการแหวกว่ายของมังกร จึงมีเรื่องเล่าต่อเติมว่า นี่คือสายน้ำแห่งมังกร เป็นมังกรตัวเล็ก ที่พาดอยู่กลางลำน้ำ ตำแหน่ง “หัวมังกร” อยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะช่างล้านช้าง ตำแหน่ง “ท้องมังกร” อยู่ที่วัดเล่งฮกยี่ เหมือนเดิม แต่ “หางมังกร” ของบางปะกง อยู่ที่วัดโพธิ์ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยกำหนดจากตำแหน่งที่พระเจ้าตากสินเดินทัพผ่านเมืองจันทบุรีเพื่อระดมพลในการกู้กรุงศรีอยุธยา เมื่อเดินทัพถึงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ปะทะกับทัพพม่าจนได้ชัยชนะ จึงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ

งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโสธรจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยถือเอาตามวันจันทรคติ ครั้งแรกช่วงกลางเดือน 5 ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ รวม 3 วัน เทศกาลนี้เป็นการสมโภชในวันคล้ายวันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากแม่น้ำ แล้วอัญเชิญประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ครั้งที่สองจัดในช่วงกลางเดือน 12 เริ่มจากวันขึ้น 14 ค่ำโดยการแห่หลวงพ่อทางบก พอวันขึ้น 15 ค่ำ มีการแห่ทางน้ำ และวันแรม 1 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายมีการเวียนเทียนและสรงน้ำพระ เป็นเทศกาลเก่าแก่ที่จัดสืบทอดมาตั้งแต่ปี 2434 คล้ายการสมโภชเพื่อขอบพระคุณหลวงพ่อ เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านประสบทุพภิกขภัย ฝนแล้ง โรคห่าและฝีดาษระบาด ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมากราบไหว้ขอความศักดิ์สิทธิ์ช่วยปกปักรักษา ทำให้ทุกข์ร้อนผ่อนพ้นมาได้

ในปีนี้ (2566) การแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ กำหนดขึ้น 2 วันคือ วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน เป็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 และวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จุดจอดแต่ละแห่งในทั้งสองวันล้วนมีเรื่องราวผูกโยงกับประวัติศาสตร์บางปะกงทั้งสิ้น
ขออาราธนาพระคุณหลวงพ่อโสธรช่วยดลใจให้หยุดการทำร้ายแม่น้ำ ให้ “มังกร” ที่สวยงามนี้มีลมหายใจแหวกว่ายเป็นบ้านของสรรพชีวิตทั้งหลาย ไปอีกนานแสนนาน
TAGS #สายน้ำแห่งมังกร #ประเพณีแห่หลวงพ่อโสธร #หลวงพ่อโสธร #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #แม่น้ำบางปะกง #หาอยู่หากิน #พายเรือทวนน้ำ