กำเนิดบางบ็องกอง

ใฝ่พะวงหลงเฝ้าสาวเจ้าบางปะกง พางวยงงหลงเก้อเพ้อหา...
แผนที่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง

ใฝ่พะวงหลงเฝ้าสาวเจ้าบางปะกง พางวยงงหลงเก้อเพ้อหา…

เพลง “รักจางที่บางปะกง” เจ้าตำรับขับร้องโดยอาจารย์สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ท่านดัดแปลงทำนองจากเพลงไทยสองเพลง คือ เพลงทะเลบ้าสองชั้น และเพลงแขกมอญบางขุนพรหมสองชั้น-เฉพาะท่อนสาม  สองเพลงนี้ไปกันคนละทาง แต่อาจารย์สดใสสามารถจับมาต่อกันได้เป็นเพลงตับอย่างที่ไม่เคยมีเพลงครูดนตรีไทยคนใดเคยทดลองทำมาก่อน

ท่อนบนเป็นเพลงทะเลบ้า

…ใฝ่พะวงหลงเฝ้าสาวเจ้าบางปะกง พางวยงงหลงเก้อเพ้อหา

โอ้เวรกรรมจำพรากจากไปไกลตา ในอุราระทมตรมไหม้

เจ้าทำเมินพี่มอง โอ้เจ้ามองพี่เหมือนผ้าพันกันเปื้อน นานก็เลือนร้างไป

ใยมาตัดไมตรีน้องมีแฟนใหม่ ทิ้งชาวนาไร่ไปกับหนุ่มเศรษฐี น้องลืมเรือบด

นั่งรถอร่ามงามด้วยศักดิ์ศรี ยามพี่ล่องเรือมา ตามประสาบ้านเรา

หาคนงามถามข่าว มองหาสาวไม่มี ชีวีแทบขาดรอน..

ส่วนท่อนฮุคที่ร้องว่า

…บางปะกง น้ำคงขึ้นๆ ลงๆ ใจอนงค์ ก็คงเลอะเลือนกะล่อน

ปากน้ำเค็มไหลขึ้นก็จืดก็จาง ใจน้องนางรักนานเลยจางจากจร

ใจนารีสวยสดคงคดดั่งลำน้ำ พี่ขืนพายจ้ำคงต้องช้ำแน่นอน 
ต้องจอดเรือขอลา แม่กานดางามงอน วอนหลวงพ่อโสธรจงดลใจยอดชู้

เจ้าอยู่แห่งไหน อยู่ใกล้หรือไกลสุดกู่ ได้ยินเพลงร้องน้องจงคืนสู่

พี่ยังคอยพธูอยู่ที่บางปะกง…

อันนี้เป็นเพลงแขกมอญบางขุนพรหมท่อนสาม

“รักจางที่บางปะกง” เป็นเพลงที่อาจารย์สดใสแต่งเองร้องเองในปี 2517 (เรียบเรียงดนตรีโดย มนตรี แสงเอก) แต่มาดังสุดขีดจริงๆ ช่วงปี 2540 ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ รู้แต่ว่าเวลามีกิจกรรมรวมหมู่ที่มีกลองทอมประกอบครั้งใด เพลงนี้บรรจุอยู่ในเมนูทุกครั้งจนทุกวันนี้

อาจารย์สดใสเป็นคนบางบ่อ สมุทรปราการ (แต่มาใช้ชีวิตเติบโตอยู่แถวปทุมธานี) จังหวัดสมุทรปราการเป็น 1 ใน 11 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก นครราชสีมา ปทุมธานี ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว และสระบุรี (แม้อาจารย์สดใสจะย้ายมาเป็นคนปทุมธานีก็ยังได้ชื่อว่าเป็นคนบางปะกงอยู่ดี)

หนังสือ “ว่าด้วยแม่น้ำที่มีในประเทศสยาม” (ไม่ปรากฏนามผู้เขียน แต่คำนำโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างอิงจากการพิมพ์ฉบับที่หนึ่งซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในงานปลงศพนายคนึง สุวารี ปีมะโรง พ.ศ. 2471) กล่าวว่า “ที่เรียกว่าแม่น้ำบางปะกงนี้ ก็ตั้งแต่ที่ปากน้ำหนุมานกับลำพระปรงมาต่อกัน พ้นลงมาก็เป็นลำแม่น้ำใหญ่ ใช้เรือแพขึ้นล่องโดยสะดวก”

ลุ่มน้ำบางปะกงได้ชื่อเรื่องความสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่สยามยังปกครองเป็นมณฑล เพราะถือเป็นลุ่มน้ำหน้าด่านปราการตะวันออก ในยุคนั้นแบ่งลุ่มน้ำออกเป็น 9 สาย ลุ่มน้ำสำคัญของมณฑลปราจีนบุรีก็คือลุ่มน้ำบางปะกง ครอบคลุมพื้นที่เมืองปราจีนบุรี เมืองนครนายก เมืองพนมสารคาม และเมืองฉะเชิงเทรา ต่อมารับโอนเมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม และเมืองบางละมุง เข้ามาอยู่ในเขตปกครอง

แม่น้ำบางประกงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของภาคตะวันออก ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาจันทบุรี ไหลผ่านจังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรี เรียกว่า แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก (ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)  สองสายน้ำไหลมารวมกันลงสู่อ่าวไทยระหว่างอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรากับอำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี จึงเป็นสายเลือดสำคัญที่สุดของมณฑลตะวันออก ภายหลังจึงมีการเรียกชื่อแม่น้ำตามเมืองที่ไหลผ่าน เช่น เมื่อไหลผ่านปราจีนบุรี เรียกแม่น้ำปราจีนบุรี ไหลผ่านนครนายก เรียกแม่น้ำนครนายก

ส่วนชื่อแม่น้ำ “บางปะกง” มาจากจุดที่แม่น้ำไหลลงอ่าวไทยตรงอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทุกวันนี้เราต่างตระหนักว่าแม่น้ำสายหนึ่งไม่ได้เกิดและไม่ได้ไหลไปอย่างโดดเดี่ยว ทว่ามันเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับสายน้ำมากมายหลายสาย ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจในชีวิตต่างๆ (ที่ไม่ใช่แค่มนุษย์) ในระหว่างสายน้ำ และพื้นที่บก/ริมน้ำ ที่ประกอบร่างเป็นวิถีชีวิตที่พึ่งพาสายน้ำเหล่านั้นด้วย

…การมองเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม การพึ่งพาอาศัย ตลอดจนการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจากภัยคุกคาม และความเปลี่ยนแปลง การมองแบบระบบ “ลุ่มน้ำ” จึงให้ความลุ่มลึกมากกว่ามองแม่น้ำสายโดดๆ…

แต่เพื่อลดความสับสน ซับซ้อน ขอเรียกแค่แม่น้ำบางปะกงเฉยๆ เป็นที่รู้กันว่าลุ่มน้ำนั้นเป็นเลขทดอยู่ในใจเสมอ

หนังสือ “ว่าด้วยแม่น้ำที่มีในประเทศสยาม” บอกว่า แม่น้ำบางปะกงเริ่มจากที่ปากน้ำหนุมานกับลำพระปรง สองสายน้ำนี้ถ้าไม่ใช่คนพื้นที่ก็แทบจะไม่ได้เคยยินชื่อ

แม่น้ำหนุมานกำเนิดจาก 2 ลำน้ำสาขาในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนแม่น้ำพระปรงเกิดจากการรวมตัวของ 4 ลำน้ำสาขา เมื่อไหลมาระหว่างทาง สองลำน้ำนี้ก็มารวมกับแม่น้ำนครนายก จังหวัดนครนายก จากนั้นไปสบกับคลองท่าลาด อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วไปรวมกับลุ่มน้ำสาขาคลองหลวง คือคลองใหญ่ (อำเภอบ่อทอง) กับคลองหลวง  (อำเภอเกาะจันทร์) จังหวัดชลบุรี สุดท้ายปลายทางออกอ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

แม่น้ำบางปะกงมีความยาว 230 กิโลเมตร ครึ่งบนต้นน้ำเป็นภูเขา ป่า และน้ำจืด ส่วนครึ่งล่างเป็นที่ราบออกสู่อ่าวไทย ทำให้แม่น้ำบางปะกงมีลักษณะ 3 น้ำ คือครึ่งบนเป็นน้ำจืด ไหลเชี่ยว เป็นพื้นที่สวน นา และประมงน้ำจืด ส่วนครึ่งล่างเป็นน้ำจืดในหน้าฝน น้ำกร่อยช่วงเปลี่ยนน้ำ และน้ำเค็มในช่วงปลายน้ำ ดินจึงลักจืดลักเค็ม ส่งผลต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพริมน้ำ ประมงริมน้ำ รวมถึงผลไม้ นาข้าวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ มีรสชาดและเอกลักษณ์เฉพาะ รวมถึงนิเวศน์วัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ

คำว่า “บางปะกง” เป็นคำสนธิสองคำ “บาง” เป็นคำไทย หมายถึงสถานที่ที่อยู่ติดริมน้ำ ลำคลอง หรือทะเลสภาพน้ำขึ้นลง มีชุมชน มีวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำมาค้าขาย อยู่ร่วมกัน ส่วน “ปะกง” ก็ไม่ต้องรอให้เขมรเคลม เป็นคำของเขาจริงๆ นั่นแหละ มาจากคำว่า “บ็องกอง” แปลว่า กุ้ง แสดงว่าพื้นที่นี้มีกุ้งชุกชุม ซึ่งเป็นลักษณะของแม่น้ำสองน้ำ

ไม่เฉพาะชื่อแม่น้ำบางปะกงที่บ่งบอกอิทธิพลจากขอมและเขมรเท่านั้น ตลอดแนวลำน้ำยังมีโบราณสถานและวัฒนธรรมเขมรกระจัดกระจายอยู่ แม้กระทั่งชื่อจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็เพี้ยนเสียงมาจาก สตรึงเตรง หรือ ฉ่ทรึงเทรา (คลองใหญ่ คลองลึก) ซึ่งเป็นภาษาเขมรเช่นกัน

เห็นภาพความชุกชุมของกุ้งตัวโตๆ ในสมัยก่อนขึ้นมาเลย…

แม่น้ำมีอายุมากกว่าเราหลายร้อยหลายพันปี ผู้คนแต่ละช่วงสมัยอาศัยหาอยู่หากิน พื้นที่ลุ่มน้ำจึงประทับด้วยเรื่องราวและวิถีชีวิตที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนและส่งผ่านมาให้คนแต่ละรุ่น

หวังว่าความงดงามเหล่านั้นคงไม่สูญไปเหมือนบ็องกองตัวโตๆ ที่เคยชุกชุม…

ที่มาข้อมูล:

  • เพลงรักจางที่บางปะกงและสดใส รุ่งโพธิ์ทอง จากเพจ https://www.gotoknow.org/posts/408064 เขียนโดย วิพล นาคพันธ์
  • ฟังเพลงรักจางที่บางปะกง สดใส รุ่งโพธิ์ทอง https://youtu.be/zFPDu4Jy_Es
  • ข้อมูลลุ่มน้ำบางปะกงและภาพถ่ายทางอากาศ จากเว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรน้ำและชายฝั่ง https://km.dmcr.go.th/c_218/s_221
  • https://www.silpa-mag.com/on-view/tour-tod-nong-tong-tiew/article_27214

บทความโดย : อยู่ดี กินดี

#กำเนิดบางบ็องกอง #แม่น้ำบางปะกง #คลองใหญ่ #คลองลึก #อยู่ดีกินดี #พายเรือทวนน้ำ

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โรงเจแห่งแรกในฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ใน ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
วัดพิมพาวาสจะมีการประกอบพิธี “ตักบาตรน้ำผึ้ง”ทุกวันเพ็ญเดือนสิบ ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญที่ทั่วประเทศเหลือสืบทอดเพียงไม่กี่แห่ง
ผีแถน เทพเจ้าผู้ควบคุมฟ้าฝนของคนอีสาน มีความสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ในฤดูทำนา
งานบุญบั้งไฟฉะเชิงเทรา หรือ บั้งไฟท่าตะเกียบ จัดขึ้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นงานประเพณีที่สืบทอดจากชาวอีสาน มีขบวนแห่ การแสดง และการจุดบั้งไฟที่น่าตื่นตาตื่นใจ
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจลำดับสี่ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว พืชตระกูลหญ้าที่ให้ความหวานนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 400 ปีก่อน สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียนำเข้ามา แม้ถิ่นกำเนิดของอ้อยจะอยู่ในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เส้นทางการค้าเมื่อกว่าพันปีก่อนก็ทำให้อ้อยขยายไปทั่วเอเชีย
ต้นปีจนถึงฤดูร้อน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวมักจะมาลงเรือไปดูโลมาอิรวดี ซึ่งบริเวณนี้พบประมาณ 40-50 ตัว ในน่านน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงทุกวันนี้