ตักบาตรน้ำผึ้ง

วัดพิมพาวาสจะมีการประกอบพิธี “ตักบาตรน้ำผึ้ง”ทุกวันเพ็ญเดือนสิบ ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญที่ทั่วประเทศเหลือสืบทอดเพียงไม่กี่แห่ง
ตักบาตรน้ำผึ้ง

ทุกวันเพ็ญเดือนสิบ ที่วัดพิมพาวาสจะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมกันประกอบพิธี “ตักบาตรน้ำผึ้ง

ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญที่ทั่วประเทศเหลือสืบทอดเพียงไม่กี่แห่ง ตักบาตรน้ำผึ้งของที่นี่ทำเป็นเทศกาล 3 วัน เหล่าอุบาสก อุบาสิกาจะมาทำวัตรเช้า-เย็นและฟังธรรมเทศนากันทั้ง 3 วัน เริ่มตั้งแต่ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ แต่วันถวายน้ำผึ้งคือขึ้น 15 ค่ำ

15 ค่ำ เดือน 10 ในปี 2567 นี้ ตรงกับวันอังคารที่ 17 กันยายน

วัดพิมพาวาส อยู่ในตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง วัดเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีแห่งนี้อยู่ริมคลองพระยาสมุทร (ช่วงกลางคลองและปลายคลอง มักเรียกว่าคลองนิยมยาตรา) คลองเส้นนี้แยกจากคลองประเวศบุรีรมย์ไปบรรจบคลองฉะบังและคลองต้นโพธิ์ ความยาว 7 กิโลเมตรเศษ ระยะทางส่วนใหญ่ของคลองเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ กับอำเภอบ้านโพธิ์และอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ชุมชนสองฝั่งคลองแต่คนละจังหวัดนี้เกี่ยวดองกัน เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ. 2430–2435 พระยาสมุทบุรานุรักษ์ (สิน) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการและเมืองฉะเชิงเทรา เป็นแม่กองในการขุดคลองนี้ โดยขอแรงคนมาช่วยขุดและใช้เวลาขุดนานถึง 3 ปี เมื่อแล้วเสร็จจึงชักชวนคนจากบ้านบางพระ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา กับคนมอญจากบ้านบางเหี้ย บางเพรียง และคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ที่ต้องการหาที่ทำกินใหม่ที่แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เข้ามาลงหลักปักฐาน นานวันก็มีพ่อค้าแม่ค้ามอญจากฝั่งสมุทรปราการพายเรือมาขายของพวกหม้อไหดินเผา ถูกใจพื้นที่ซ้ำยังมีคนมอญมาตั้งหลักแหล่งอยู่ก่อนแล้ว จึงย้ายเข้ามาอยู่ในตำบลพิมพา ริมคลองพระยาสมุทรจึงกลายเป็นชุมชนมอญคล้ายกับพระประแดงในสมุทรปราการ

ผู้คนไปอยู่ที่ไหนก็พาวัฒนธรรมของตัวเองไปด้วย เมื่อริมคลองพระยาสมุทรมีชาวมอญอาศัยอยู่กันมาก วัดพิมพาวาสก็ถูกสร้างขึ้น เดิมมีวัดเดียว แต่คนเก่าแก่ในชุมชนเล่าว่า ราวปี 2500 เกิดเหตุทะเลาะกัน เลยแบ่งเป็นสองวัด คือวัดพิมพาวาส (ใต้) ซึ่งเป็นวัดแรกสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสายธรรมยุติ กับวัดพิมพาวาส (เหนือ) สังกัดมหานิกาย ซึ่งพระสงฆ์ของทั้ง 2 วัดก็เป็นคนเชื้อสายไทย

คุณลือชัย พรหมศรี คนหมู่ 3 ในตำบล เป็นอุบาสกที่มาช่วยงานวัดพิมพาวาส (ธรรมยุติ) เป็นประจำ เล่าให้ฟังว่าการแยกวัดเป็นเรื่องจริงจังถึงขนาดแบ่งโบสถ์แบ่งศาลากันเลย

“วัดเดิมมีพื้นที่ 16 ไร่ เขาก็แบ่งคนละครึ่ง วัดพิมพาวาส-เหนือ เอาศาลาไป ใช้วิธิขุดร่องเสาแล้วเลื่อนศาลาไปสร้างในที่ใหม่ โบสต์ก็สร้างใหม่ ส่วนวัดพิมพาวาส-ใต้ (ธรรมยุติ) เก็บโบสถ์ไว้ วัดสองแห่งนี้ห่างกันแค่กำแพงปูนกั้น”

แม้จะเป็น “วัดมอญ” ทั้งสองแห่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป วัดที่ยังคงประเพณีมอญเก่า ๆ ไว้ รวมถึงดึงดูดญาติโยมที่สืบเชื้อสายมอญมาทำบุญสุนทาน ก็คือวัดพิมพาวาส สายธรรมยุติ หรือวัดใต้ เช่น ประเพณีแห่ธงตะขาบ ที่เป็นเทศกาลในช่วงสงกรานต์ และบุญตักบาตรน้ำผึ้ง “พระท่านจะเตรียมบาตรและหงายฝาบาตรไว้ มีหม้อโอสองใบวางไว้เคียงกัน พอแปดโมงเช้าก็เริ่มพิธี” พิธีจัดที่ศาลา ของที่ร่วมในพิธีนี้มีสามอย่าง คือ น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย และข้าวต้มมัด น้ำผึ้งจะใส่ในบาตร คนที่นำมาถวายทั้งขวดก็วางในหม้อโอ น้ำตาลทรายเทใส่ฝาบาตรหรือหม้อโอที่อยู่ข้างกัน ส่วนข้าวต้มมัดและอาหารอื่น ๆ ใส่ภาชนะไว้อีกด้านของศาลา

ชาวมอญเชื่อว่าการตักบาตรน้ำผึ้งเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เพราะน้ำผึ้งจัดเป็น 1 ในเภสัชทาน 5 ชนิด (น้ำผึ้ง เนยใส เนยข้น น้ำมัน และน้ำอ้อย) เป็นยาบำรุงร่างกาย ทั้งใช้เข้าเครื่องยารักษาโรค พระสงฆ์พึงฉันได้ การถวายน้ำตาลทรายก็มาจากเหตุผลนี้เพราะถือว่ามาจากน้ำอ้อย อีกทั้งวัดยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วไป ส่วนข้าวต้มมัดก็ถวายเพื่อให้พระสงฆ์ได้ฉันพร้อมน้ำผึ้ง (พุทธประวัติมีเรื่องเล่าที่มาการถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุ คลิกอ่านได้ในเพจ ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://rituals.sac.or.th/detail.php?id=48)

ในกูเกิ้ลบอกว่า ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งนิยมปฏิบัติในหลายจังหวัดของภาคกลางที่มีชุมชนชาวมอญ เช่น สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และนนทบุรี แต่จังหวัดเหล่านี้ก็มีประชากรใหม่ ๆ เข้าไปตั้งหลักแหล่ง ชุมชนมอญแท้ ๆ แทบหายไปเกือบหมด คนหาย ประเพณีก็สูญหายไปด้วย แม้แต่ในตำบลพิมพาที่เป็นชุมชนมอญเก่าแก่ ทุกวันนี้ก็เต็มไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งยังคงอยู่ได้อาจเป็นเพราะวัดพิมพาวาส สายธรรมยุติ มีความเข้มแข็ง เป็นศูนย์รวมใจให้คนตำบลพิมพามีศรัทธาสืบทอดเรื่องราวดีดีในอดีต

ขอบคุณภาพประกอบ

https://www2.chachoengsao.go.th/tradition/detail/4

TAGS #ตักบาตรน้ำผึ้งวัดพิมพาวาส #ตักบาตรน้ำผึ้งบางปะกง #บุญตักบาตรน้ำผึ้ง #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #พายเรือทวนน้ำ #อยู่ดีกินดีที่บางปะกง

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โรงเจแห่งแรกในฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ใน ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ผีแถน เทพเจ้าผู้ควบคุมฟ้าฝนของคนอีสาน มีความสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ในฤดูทำนา
งานบุญบั้งไฟฉะเชิงเทรา หรือ บั้งไฟท่าตะเกียบ จัดขึ้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นงานประเพณีที่สืบทอดจากชาวอีสาน มีขบวนแห่ การแสดง และการจุดบั้งไฟที่น่าตื่นตาตื่นใจ
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจลำดับสี่ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว พืชตระกูลหญ้าที่ให้ความหวานนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 400 ปีก่อน สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียนำเข้ามา แม้ถิ่นกำเนิดของอ้อยจะอยู่ในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เส้นทางการค้าเมื่อกว่าพันปีก่อนก็ทำให้อ้อยขยายไปทั่วเอเชีย
ต้นปีจนถึงฤดูร้อน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวมักจะมาลงเรือไปดูโลมาอิรวดี ซึ่งบริเวณนี้พบประมาณ 40-50 ตัว ในน่านน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงทุกวันนี้
สวนผลไม้ที่ราชทูตฝรั่งเศสมองเห็นจากริมฝั่งแม่น้ำเมื่อกว่า 300 ปีนั้นเป็น “สวนยกร่อง”