เมื่อราชทูตแห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 “ลาลูแบร์” เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านละลานตากับความร่มครึ้มของสวนผลไม้ โดยเขียนบันทึกขณะล่องเรือเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เมืองธนบุรีนั้นเต็มไปด้วยสวนผลไม้ มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่บางกอกถึงตลาดขวัญ (นนทบุรี-ปัจจุบัน)
สวนผลไม้ที่ราชทูตฝรั่งเศสมองเห็นจากริมฝั่งแม่น้ำเมื่อกว่า 300 ปีนั้นเป็น “สวนยกร่อง”

สวนยกร่องเป็นรูปแบบเกษตรกรรมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอยู่ในไทย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนครินทราธิราช หรือสมเด็จพระอินทราชา (ครองราชย์ พ.ศ.1952-1967) เอกสารของหม่าฮวน (ล่ามในคณะของผู้บังคับกองเรือเจิ้งเหอ) บอกว่า ยุคนั้นมีคนจีนจากภาคใต้แถบกวางตุ้ง-กวางสี เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่แถวคลองอ้อม (เขตอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี) และบริเวณใกล้เคียง คนเหล่านี้เป็นผู้ริเริ่มทำสวนแบบยกร่อง ถัดจากสวนออกไปเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ ที่ลุ่มภาคกลางจึงมีคนทำเกษตรสองระบบอยู่ปนกันคือ ชาวสวนกับชาวนา

การทำสวนแบบยกร่องที่แบ่งเป็นขนัด มีร่องน้ำ ลำประโดง เป็นรูปแบบในการจัดการน้ำ ซึ่งไม่พบในพื้นที่ภาคอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคเหนือ แต่พบมากในแถบฝั่งธนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี และฉะเชิงเทรา พื้นที่ดังกล่าวอยู่บริเวณสามหลี่ยมปากแม่น้ำภาคกลางตอนล่างทั้งสิ้น เป็นทำเลทองที่คนจีนโพ้นทะเลนิยมมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน เพราะดิน น้ำ อุดมสมบูรณ์ การสัญจรค้าขายคล่องตัว มีรายได้ดีกว่าทำนา ต่อมาคนไทยเริ่มทำสวนยกร่องบ้าง แต่ยังอาศัยคนจีนเป็นแรงงาน เพราะงานยกร่องสวนเป็นงานหนัก
ปัจจุบัน ระบบสวนยกร่องในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งกรุงเทพฯ แถวฝั่งธนบุรี และนนทบุรี ที่เคยเป็นแหล่งผลิตผลไม้ขึ้นชื่อ แทบไม่เหลือแล้ว เพราะการขยายตัวของเมือง พื้นที่สวนหลายแห่งกลายเป็นบ้านจัดสรร ที่ยังเหลืออยู่บ้างก็เผชิญกับปัญหาน้ำเสีย น้ำเค็ม น้ำท่วม เพราะการเปลี่ยนแปลงของทางน้ำธรรมชาติที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ
ฉะเชิงเทราก็เหลือไม่มาก ที่ยังมีอยู่ในเวลานี้ก็แถว ๆ อำเภอบางคล้า อำเภอเมือง เฉพาะชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำบางปะกง


ระบบท้องร่อง
ท้องร่องมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ ร่องน้ำ อกร่อง และคันสวน
ร่องน้ำใช้ในการกักเก็บน้ำจืด ทั้งเพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภค เพราะสมัยก่อนไม่มีน้ำประปา ชาวสวนจะดึงน้ำเข้าสวนในช่วงที่น้ำในแม่น้ำบางปะกงเป็นน้ำจืด ร่องน้ำในอดีตที่เคยใช้เพื่อทำนา สมัยก่อน คนจีนที่ทำสวนมิใช่ว่าไม่ปลูกข้าว แต่จะปลูกแค่พอกิน โดยปลูกสองรูปแบบ คือ นาในท้องร่องสวน กับนาอกร่องสวน หลังทศวรรษ 2530 ต้นทุนการปลูกข้าวสูงขึ้น การปลูกข้าวเพียงเล็กน้อยไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรง ชาวสวนก็เลยเลิก ทุกวันนี้ร่องน้ำจะเป็นส่วนที่กักเก็บน้ำและเลี้ยงปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลากะพง ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน และปลาจีน (ปลาซ่ง) ปลาอื่น ๆ เป็นผลพลอยได้จากการสูบน้ำเข้าสวน ร่องน้ำยังเป็นสวนสนุกของเด็กสมัยก่อน เล่นน้ำ ตกปลา หาสัตว์น้ำ ก็ในร่องสวนนี้ทั้งนั้น
การสูบน้ำเข้าสวนสมัยก่อนไม่มีท่อพญานาค (ท่อสูบน้ำพลังสูง) ชาวสวนจะทำท่อจากลำต้นตาล โดยเจาะลำต้นให้กลวง ใส่วัสดุเพื่อปิดอุดท่อสำหรับควบคุมการถ่ายน้ำเข้า-ออกสวน
ส่วนอกร่องจะปลูกพืชหลักมากกว่าหนึ่งชนิด เช่น มะม่วง พลู มะนาว ข้างอกร่องปลูกหมากกับมะพร้าว สมัยก่อนคนยังกินหมาก จึงเป็นพืชที่ได้ราคาดี หมากเป็นพืชทนน้ำเค็ม ทั้งช่วยป้องกันตลิ่งพัง

มะม่วงที่ปลูกในสวนยกร่องรสชาติดี ถึงขนาดว่าแม่ค้าตลาดมหานาคให้ราคาสูงกว่ามะม่วงที่ปลูกในสวนธรรมดา มาถึงยุคที่มีการพัฒนาพันธุ์มะม่วงและมะพร้าวน้ำหอม ยิ่งเข้าทาง มะพร้าวน้ำหอมชอบดินเค็ม แม้มีการนำไปปลูกในที่ลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ที่ปากแม่น้ำก็ต้องใส่เกลือในดิน ไม่งั้นไม่อร่อย มะพร้าวน้ำหอมบางคล้าขึ้นชื่อ ต่อมามีการนำไปผสมกับแป้งขนมจาก กลายเป็นขนมจากสูตรมะพร้าวน้ำหอม สินค้าลายเซ็นของจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนมะม่วงที่ขึ้นชื่อของบางคล้าก็คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ รสชาติอร่อยที่อื่นสู้ไม่ได้ ปัจจุบัน มะม่วงน้ำดอกไม้จากบางคล้าครองแชมป์ทั้งขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศในกลุ่มของมะม่วงสุก
องค์ประกอบสุดท้ายของสวนยกร่อง คือ คันดิน เป็นส่วนสำคัญของการเกษตรยกร่องในลุ่มแม่น้ำบางปะกงที่มีสภาพนิเวศสามน้ำ คันดินทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในสวน และยังใช้ป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก
เกษตรนิเวศที่กำลังจะสูญหาย
ภูมิปัญญาสวนยกร่องเป็นระบบเกษตรที่เก่าแก่พอ ๆ กับนาขั้นบันได สวนยกร่องเป็นการทำสวนในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ในสภาพดินเหนียวไม่ร่วนซุย แต่มีอินทรียวัตถุสูงเพราะตะกอนดินที่มีธาตุอาหารไหลมาสะสมในหน้าน้ำหลาก การยกคันดินรอบสวนเป็นการป้องกันน้ำท่วม ส่วนคันดินด้านในพร้อมร่องน้ำเป็นการจัดการดินและน้ำ เพื่อให้สามารถปลูกไม้ยืนต้นจำพวกไม้ผลเมืองร้อนได้แม้เป็นที่ลุ่ม ในระบบนิเวศสามน้ำ น้ำเค็มจะเข้าถึงพื้นที่ประมาณ 3 เดือน ร่องสวนจะทำหน้าที่เก็บน้ำจืดไว้ใช้ และป้องกันน้ำเค็ม ในช่วงน้ำหลากก็จะป้องกันน้ำท่วมพืชผลได้ระดับหนึ่ง
การทำสวนเป็นงานประณีต อาศัยความขยันและอดทน ซึ่งคนจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบมีคุณสมบัติดังว่าเต็มร้อย ไม่ว่าจะเดินถอนหญ้าทุกวัน ริดแต่งและเก็บกวาดทางหมากและมะพร้าวไม่ให้ตกลงไปในร่องน้ำ ไม่อย่างนั้นน้ำจะเน่า ทุกปีก็ต้องขุดลอกร่องเพื่อรักษาระดับความลึกไม่ให้ร่องน้ำตื้นเขิน โดยโกยเอาโคลนเลนในร่องขึ้นมาพอกเสริมบริเวณอกร่องและคันดิน และเสริมบริเวณโคนต้นไม้ด้วย ดินโคลนจากท้องร่องเป็นปุ๋ยที่ดี ปฏิบัติการดังกล่าว ไม่อาจใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่เทอะทะอย่างรถแบ็คโฮ การขุดลอกท้องร่องจึงใช้แรงคนอย่างเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับการเก็บผลผลิต ก็ใช้แรงคน ยิ่งทำสวนหลายขนัดก็ยิ่งใช้เวลาและแรงคนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับการที่ฉะเชิงเทราเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สวนยกร่องหลายแห่งเปลี่ยนโฉมกลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หลายแห่งเลิกทำสวนผลไม้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม ที่เกิดจากการสร้างประตูน้ำขวางลำคลองทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลง การขยายตัวของชุมชนเมืองที่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น

เกษตรนิเวศที่เป็นมรดกโลก
ระบบสวนยกร่องเป็นระบบเกษตรเชิงนิเวศที่เกิดมาพร้อมกับอารยธรรมของมนุษย์ โดดเด่นในด้านการออกแบบเพื่อจัดการดินและน้ำโดยไม่ฝืนธรรมชาติ ทำให้สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากระบบสวนได้
บางประเทศสามารถรักษาระบบเกษตรโบราณนี้ไว้ได้ อย่างเช่น ระบบสวนลอยน้ำของเม็กซิโก หรือ Chinampas ที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมของชาวแอซเทคโบราณ การทำฟาร์มระบบ Chinampa เป็นรูปแบบเกษตรกรรมโบราณของชุมชนชาวพื้นเมืองอเมริกันเมื่อพันปีก่อน ลักษณะคล้ายสวนยกร่อง ต่างกันตรงที่ใช้โคลนจากทะเลสาบผสมกับซากต้นไม้ที่เน่าเปื่อยเพื่อเป็นปุ๋ย สวนลอยน้ำที่ว่ามักปลูกอ้อยหรือไม้พุ่มริมร่องสวนเพื่อป้องกันตลิ่ง
เมื่อปี 2017 รัฐบาลเม็กซิโก เสนอต่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ให้บันทึกสวนยกร่องลอยน้ำ Chinampas เป็นมรดกเกษตรของโลก (Globally Important Agricultural Heritage Systems: GIAHS) เช่นเดียวกับที่จีน ญี่ป่น เกาหลี และอินเดีย เสนอมรดกวัฒนธรรมเกษตรของตน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรของโลก
ส่วนบ้านเรา เช่นเคย ไม่สามารถรักษามรดกวัฒนธรรมการเกษตรเชิงนิเวศไว้ได้ “สวนยกร่อง” ภูมิปัญญาเก่าแก่ อาจค่อย ๆ รอวันสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
TAGS #สวนยกร่องบางคล้า #สวนท้องร่อง #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #พายเรือทวนน้ำ #เกษตรเชิงนิเวศมรดกของโลก
อ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/culture/article_32890
https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/516
https://web.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873/3552260268145802/?type=3&_rdc=1&_rdr