เรือผีหลอกกับปลากระบอกต้มส้ม

พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นแหล่งเริ่มต้นของอารยธรรรม ชุดความรู้ที่พัฒนาเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอด มักเกิดจากชุมชนริมแม่น้ำ และการสังเกตธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิต บางครั้งก็ทำให้เกิดการค้นพบวิธีหาอยู่หากินแบบที่คิดไม่ถึง อย่างเช่นเรื่อง “เรือผีหลอก”
เรือผีหลอกเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนริมน้ำ เป็นการจับปลาโดยไม่ต้องลงไปในน้ำ หรือใช้เครื่องมือพวกเบ็ด แห อวน อาศัยเข้าใจธรรมชาติก็เหมือนใช้มนต์เรียกปลาให้ขึ้นมาเต็มลำเรือ

เรือผีหลอกเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนริมน้ำ เป็นการจับปลาโดยไม่ต้องลงไปในน้ำ หรือใช้เครื่องมือพวกเบ็ด แห อวน อาศัยเข้าใจธรรมชาติก็เหมือนใช้มนต์เรียกปลาให้ขึ้นมาเต็มลำเรือ

เรือผีหลอกส่วนใหญ่จะเป็นเรือมาด กว้างประมาณ 1 เมตร (หรือแคบกว่านี้ก็มี) ความยาวมีหลายขนาด ตั้งแต่ 7 เมตร จนถึง 15 เมตรก็มี มีทั้งที่แบบเรือขุดและเรือต่อ ท้องเรือค่อนข้างแบน เมื่อลอยอยู่ในน้ำ กราบเรือจะสูงจากระดับน้ำไม่มาก

ด้านข้างเรือจะแขวนแผ่นกระดานทาสีขาวทั้งด้านบนและด้านล่าง อีกด้านปักเสาไม้ไผ่ ขึงตาข่ายไนล่อน หรืออวนกันปลา สูงประมาณสองศอก (1 เมตร) ตลอดลำเรือ ท้ายเรือด้านขวามีหลักแจว และมีเต่าแจว หรือช่องสำหรับเสียบหลักแจวทั้งสองข้างให้เลือกใช้ตามความถนัดและเหมาะสมกับสภาพท้องน้ำ กับมีแจวหนึ่งเล่ม ยาวประมาณสามเมตร

เรือผีหลอกเป็นเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยความเข้าใจพฤติกรรมของปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามพงหญ้าริมน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อาศัยแล้ว บริเวณดังกล่าวยังมีพวกแมลงที่ออกหากินกลางคืนให้ปลาจับกินอีกด้วย

คนหาปลาจะสังเกตและจดจำไว้ว่าบริเวณไหนมีปลาชุกชุม พอตกกลางคืนก็จุดตะเกียงแขวนไว้ที่หัวกับท้ายเรือ พายเรือผีหลอกไปยังพงหญ้าที่หมายตาไว้ เอียงไม้กระดานสีขาวให้แช่น้ำประมาณ 30 องศา เมื่อไม้กระดานเข้าไปใกล้พงหญ้า ปลาที่ชอบนอนในน้ำตื้นได้ยินเสียงแจว และเห็นแสงไฟส่องกระทบแผ่นไม้กระดานสีขาวสว่างโพลงก็ตกใจ กระโดดเข้ามาในเรือ บางตัวที่กระโดดข้ามเรือไปได้ก็จะชนตาข่ายตกลงในเรือเช่นกัน บางครั้งปลาที่ออกหากินกลางคืนก็ตามมากินแมลงที่มาเล่นไฟจากตะเกียงหรือไฟฉายแล้วเผลอกระโดดเข้าเรือด้วยก็มี

ปกติเรือผีหลอกจะใช้หาปลาในเวลากลางคืนในช่วงเดือนมืด แต่ทุกวันนี้มีการใช้หาปลาตอนกลางวันด้วย โดยประยุกต์ใช้ทางมะพร้าวผูกติดกับเรือแล้วลาก-ระไปตามผิวน้ำริมตลิ่งเพื่อให้ปลาตกใจกระโดดหนีไปในทิศทางที่วางตาข่ายดักไว้และตกลงในท้องเรือ บางคนก็ดัดแปลงติดเครื่องเรือเพื่อให้ออกหาปลาได้ไกลขึ้น เมื่อถึงที่หมายก็จะดับเครื่องแล้วแจวเรือไปเงียบๆ

ฟังดูเหมือนไม่ยาก แต่ไม่ใช่คนหาปลาทุกคนจะมีโชคจากเรือผีหลอก เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยสกิลเฉพาะตัว ทั้งการทำงานเงียบๆ ในความมืด ซึ่งบางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุได้เพราะเรือลำอื่นมองไม่เห็นเรา

เรือผีหลอกเป็นเครื่องมือหากินที่คนหาปลาบริเวณปากแม่น้ำนิยมกันมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปลาชุกชุมและมีขนาดใหญ่ ปลาที่เข้าเรือผีหลอกส่วนใหญ่เป็นปลาที่หากินน้ำตื้นเช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาซิว ปลาฉลาด ปลาเนื้ออ่อน ปลากระทุงเหว ปลาเสือ ปลากระดี่ ปลากระบอก ปลากะพง เป็นต้น

เวลาที่เหมาะสมในการใช้เรือผีหลอกออกไปจับปลา คือ ตั้งแต่สามทุ่มจนถึงรุ่งสาง คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าสมัยก่อนตอนฟ้าสว่างคนที่อยู่บ้านริมแม่น้ำเห็นเรือผีหลอกพายกลับมาพร้อมๆ กันหลายลำ และพบงานเขียนเรื่องเครื่องมือหาปลาชนิดนี้ในบริเวณลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เช่น แม่น้ำอ้อม แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำบางปะกง ในยุคที่แม่น้ำยังใสสะอาด คนหาปลาไม่ต้องออกเรือไปหากินไกล ก็อิ่มได้หลายมื้อเพราะหลอกปลาด้วยวิธีนี้ ทั้งยังมีเหลือขายได้อีกด้วย

ช่วงปลายปี 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายพัฒนาพื้นที่ตอนล่างลุ่มแม่น้ำบางปะกง ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบกและทะเล การใช้พื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสภาพแวดล้อมและการหาอยู่หากินของคนบางปะกง คนหาปลายิ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยที่ขยายตัว ทั้งเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้สัตว์น้ำลดจำนวน อีกตัวแปรหนึ่งก็คือ วิถีการจับสัตว์น้ำที่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่เกิดอุตสาหกรรมการประมง และการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ทำให้คนหาปลาด้วยเรือผีหลอกลดน้อยลง ยังพอมีประปรายแต่ไม่ได้เป็นอาชีพเหมือนแต่ก่อน ร้านอาหารในบางปะกงบางแห่งยังพอได้คุยว่ามีเมนูปลาสดๆ ที่จับได้จากเรือผีหลอก อย่างเช่น เมนูปลากระบอก

ปลากระบอกชอบอยู่ตามชายฝั่งบริเวณป่าชายเลน ปลากระบอกมีเนื้อนุ่ม แน่น ทำอะไรก็อร่อย แต่เมนูที่เป็น signature ของปลากระบอก คือเอาไปต้มส้ม ถ้าเป็นสูตรบางปะกงต้องครบรสทั้งเค็ม หวาน เปรี้ยวน้ำมะขาม และขิงซอย ถ้าเป็นต้มส้มแบบทางใต้ก็ต้องใส่น้ำส้มโหนดกับน้ำตาลแว่น

ชมคลิปคนบางปะกงหาปลากระบอกด้วยเรือผีหลอก https://web.facebook.com/watch/?v=2410453885790376

และสารคดี “ที่นี่บ้านเรา ตอน ผีหลอกที่บางปะกง” ออกอากาศ 1 พฤษภาคม 2562 ทางสถานีไทยพีบีเอส https://www.thaipbs.or.th/program/Banrao/episodes/60333

TAGS #เรือผีหลอก #ต้มส้มปลากระบอก #แม่น้ำบางปะกง #วิถีริมแม่น้ำ #อยู่ดีกินดี #พายเรือทวนน้ำ

ข้อมูลและภาพจาก ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน (Traditional Objects of Everyday Use) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=284

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โรงเจแห่งแรกในฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ใน ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
วัดพิมพาวาสจะมีการประกอบพิธี “ตักบาตรน้ำผึ้ง”ทุกวันเพ็ญเดือนสิบ ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญที่ทั่วประเทศเหลือสืบทอดเพียงไม่กี่แห่ง
ผีแถน เทพเจ้าผู้ควบคุมฟ้าฝนของคนอีสาน มีความสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ในฤดูทำนา
งานบุญบั้งไฟฉะเชิงเทรา หรือ บั้งไฟท่าตะเกียบ จัดขึ้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นงานประเพณีที่สืบทอดจากชาวอีสาน มีขบวนแห่ การแสดง และการจุดบั้งไฟที่น่าตื่นตาตื่นใจ
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจลำดับสี่ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว พืชตระกูลหญ้าที่ให้ความหวานนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 400 ปีก่อน สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียนำเข้ามา แม้ถิ่นกำเนิดของอ้อยจะอยู่ในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เส้นทางการค้าเมื่อกว่าพันปีก่อนก็ทำให้อ้อยขยายไปทั่วเอเชีย
ต้นปีจนถึงฤดูร้อน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวมักจะมาลงเรือไปดูโลมาอิรวดี ซึ่งบริเวณนี้พบประมาณ 40-50 ตัว ในน่านน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงทุกวันนี้