อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจลำดับสี่ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว พืชตระกูลหญ้าที่ให้ความหวานนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 400 ปีก่อน สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียนำเข้ามา แม้ถิ่นกำเนิดของอ้อยจะอยู่ในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เส้นทางการค้าเมื่อกว่าพันปีก่อนก็ทำให้อ้อยขยายไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย แม้ทุกวันนี้อินเดียก็เป็นผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ลำดับต้นของโลก
แต่ภูมิปัญญาการหีบอ้อยเพื่อทำเป็นน้ำตาลมาจากคนจีน กุลีชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองฉะเชิงเทราและปากแม่น้ำบางปะกงเป็นผู้ริเริ่มการทำสวนอ้อย และสร้างโรงหีบน้ำตาลทราย เกิดเป็น “อุตสาหกรรม” น้ำตาลทรายแห่งแรกของประเทศที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับหนึ่งของโลกเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน และยิ่งทำให้ฉะเชิงเทราเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญนับตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
เมืองจัตวาที่ฝรั่งอยากได้
ฉะเชิงเทรายกฐานะเป็นเมืองจัตวาในสมัยรัชการที่ 1 เมืองจัตวาหมายถึง หัวเมืองชั้นใน สำคัญเป็นรองแค่เมืองหลวง บันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศษที่เข้ามาในยุคนั้นบอกว่า “Petriw” (แปดริ้ว) เป็นเมืองที่ชาติตะวันตกสนใจมาก เพราะนอกจากอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินธรรมชาติแล้ว ยังเป็นชุมทางการสัญจรทางน้ำที่สามารถเชื่อมโยงจากเหนือไปจนออกอ่าวไทยถึงเขมรและเวียดนามได้ ความสนใจมีมากถึงขนาดมีการสำรวจบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงอย่างกว้างขวาง (แต่ไม่พบหลักฐานที่บันทึกการสำรวจตามที่บาทหลวงกล่าว)
พอถึงสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษและฝรั่งเศส รุกเข้ามาในเอเชียตะวันกออกเฉียงใต้แรงขึ้น เขมร ลาว เวียดนาม ตกอยู่ใต้พลังของมหาอำนาจ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมค่ายหลายแห่งในเมืองฉะเชิงเทรา รวมทั้งขุดคลองใหม่เพื่อเพิ่มเส้นทางเชื่อมโยงการขนยุทธสัมภาระและอาหารในกรณีเกิดสงคราม
การขุดคลองต้องใช้แรงงาน ชาวจีนซึ่งเข้ามามากที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นแรงงานสำคัญ พื้นที่ใกล้คลองต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอเมืองจนถึงบางปะกง มีชาวจีนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และที่เข้ามาใหม่พากันทำไร่อ้อยตลอดสองฝั่งลำน้ำ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการลำเลียงอ้อยไปยังโรงหีบน้ำตาลของชาวจีนซึ่งอยู่ริมน้ำเช่นกัน มีการทำไร่อ้อยเป็นล่ำเป็นสันมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อนแล้ว เห็นได้จากภาพปูนปั้นที่วัดสัมปทวนนอก อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และบันทึก “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ที่บอกว่าฉะเชิงเทราทั้งจังหวัดเป็นที่ราบใหญ่ อุดมไปด้วยนาข้าว สวนผลไม้ และไร่อ้อย

ยุครุ่งเรือง
การผลิตน้ำตาลทรายเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนนี้ คือโมเดลอุตสาหกรรมพื้นบ้านของไทย ทำแบบไลน์โปรดักส์ คนจีนมีความรู้การทำน้ำตาล แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีเตาเคี่ยวน้ำตาลที่ดี ฉะเชิงเทรามีโรงหีบอ้อยน้ำตาลทรายหลายแห่งได้ก็เพราะมีชาวมอญเข้ามาตั้งรกรากในเมืองและปากน้ำบางปะกง นำความรู้เรื่องการทำอิฐมาสร้างเตาเคี่ยวน้ำตาล แม้กระทั่งการสร้างป้อมค่ายกำแพงเมืองฉะเชิงเทราในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ใช้อิฐมอญของกลุ่มชาวมอญเหล่านี้ คนลาวเวียงที่ถูกกวาดต้อนมาหลังปราบเจ้าอนุวงศ์เป็นกลุ่มที่ตัดฟืนส่งโรงงานหีบอ้อย
การผลิตน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูมากโดยเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 2 รายงานของจอห์น ครอว์เฟิร์ด (ทูตอังกฤษที่เข้าในสมัยรัชกาลที่ 2) ระบุว่า สยามสามารถผลิตน้ำตาลจากอ้อยได้เป็นเวลา 13 ปีมาแล้ว ชาวจีนอพยพโดยเฉพาะจีนแต้จิ๋วเป็นผู้ริเริ่มนำอ้อยมาแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2353
หลังจากนั้นไม่นานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายก็เติบโต กลายเป็นสินค้าออกอันดับหนึ่งที่ส่งขายต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2365 ไทยส่งน้ำตาลทรายเป็นสินค้าออกราว 80,000 หาบ อีก 20 กว่าปีถัดมา (พ.ศ. 2392) ส่งออกเพิ่มเป็น 107,000 หาบ ปลายรัชกาลที่ 3 น้ำตาลทรายเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีมูลค่าสูงสุด ทำรายได้ประมาณ 708,000 บาท (ราคาหาบละ 8.50 บาท)

ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน มีเอกสารระบุว่าฉะเชิงเทรามีพื้นที่ปลูกอ้อย 10,800 ไร่มากที่สุดในประเทศ (ก่อนหน้านี้คือนครชัยศรี) แหล่งปลูกอ้อยอยู่บริเวณอำเภอบางคล้า จนถึงอำเภอเมือง และอำเภอบ้านโพธิ์ ในรัชกาลนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองฉะเชิงเทรารับผิดชอบการทำไร่อ้อยในพื้นที่ 223 ไร่ เพื่อส่งโรงน้ำตาลของหลวง ยุคนั้นมีชาวจีนในเมืองฉะเชิงเทราเอาสวนอ้อยมาจำนำเพื่อเข้าหุ้นกันทำโรงหีบน้ำตาลอ้อยกัน
อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบูมสุดขีดในสมัยรัชกาลที่ 3 น้ำตาลทรายจากเมืองไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และเป็นแหล่งรายได้ของรัฐทั้งในรูปภาษีจังกอบและภาษีที่ดิน รัฐจึงมีการส่งเสริมการปลูกอ้อย มีการตั้งโรงหีบอ้อยทั้งของหลวงและของเอกชน เฉพาะเมืองฉะเชิงเทราเป็นพื้นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่รัฐให้การสนับสนุน มีการร่างสารตราถึงเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา (พระยาวิเสศฤาไชย) ให้ชักชวนชาวจีน ลาว เขมร เข้ามาทำไร่อ้อยและตั้งโรงหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฉะเชิงเทรามีโรงหีบอ้อยมากกว่า 30 โรง ไม่น้อยกว่า 20 โรงเป็นของหลงจู๊ขาวจีน (เรียกว่า หลงจู๊นายโรงหีบ) โรงหีบน้ำตาลล้วนอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง
ช่วงโรยรา
ปลายรัชกาลที่ 4 อาชีพผลิตน้ำตาลทรายในฉะเชิงเทราค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากเหตุการณ์ “กบฏตั้วเหี่ย” (อั้งยี่) มีการปล้น และเผาโรงหีบอ้อย จนถึงฆ่าหลงจู๊และคนงาน อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแปดริ้วซบลง บ้างย้ายไปอยู่ที่อื่น จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสยามเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง (พ.ศ. 2398) ส่งผลให้การผูกขาดการค้าโดยรัฐสิ้นสุดลง และต้องเข้าสู่ระบบการค้าแบบแข่งขันเสรีที่มหาอำนาจหรือตลาดโลกเป็นผู้กำหนดราคา อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยที่บริหารด้วยระบบเดิมไม่สามารถแข่งขันกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ จึงเหลือแต่การผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภคในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลจากหญ้าคา น้ำตาลทรายแดง ฟิลิปปินส์กับชวากลายเป็นผู้เล่นใหม่ที่ผลิตน้ำตาลทรายขาวคุณภาพสูงออกสู่ตลาด ไทยเองก็นำเข้าน้ำตาลทรายขาวจากสองประเทศนี้
ตลาดน้ำตาลทรายพลิกผันอีกครั้งในปี 2420-2460 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ เนื่องจากการคิดค้นทำน้ำตาลจากหัวบีต (red beet) ยุโรปสามารถพัฒนาการทำน้ำตาลทรายขาวได้โดยไม่ง้ออ้อย
อุตสาหกรรมน้ำตาลของสยามที่เคยมีฉะเชิงเทราเป็นฐานการผลิตใหญ่ปิดฉากลง หันไปเอาดีทางผลิตข้าวแทน ทุกวันนี้ลุ่มน้ำบางปะกงผลผลิตข้าวได้มากกว่า 9 แสนตันต่อปี เฉพาะฉะเชิงเทราผลิตได้มากกว่า 2 แสนตันต่อปี และเป็นศูนย์กลางค้าขายข้าวที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก
หลงจู๊ที่เคยเป็นนายโรงหีบ ก็หันมาเป็นหลงจู๊โรงสีข้าวแทน
TAGS #อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยในอดีต #เส้นทางสายหวาน #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #พายเรือทวนน้ำ
อ้างอิงและภาพประกอบ
งานวิจัย ภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวเมืองฉะเชิงเทราในช่วง 150 ปีรัตนโกสินทร์: กรณีศึกษารูปปูนปั้นวัดสัมปทวน, อิงตะวัน แพลูกอินทร์, 2542