โรงเจเพ่งอังตั๊ว

โรงเจแห่งแรกในฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ใน ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ “ตลาดเก่าคลองสวน 100 ปี”
โรงเจเพ่งอังตั้ว โรงเจแห่งแรกในฉะเชิงเทรา มีบันทึกว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ในชุมชนตลาด ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์

เทศกาลกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567 รวม 9 วัน คนส่วนใหญ่เรียก “กินเจ” แต่คนภูเก็ตเรียก “กินผัก” ชื่อต่างแต่เป้าหมายไม่ต่างกัน เทศกาลกินเจเป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนานของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นการถือศีลกินผักเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ในช่วงเดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งตรงกับเดือน 11 ตามปฏิทินไทย จุดประสงค์เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจ ละเว้นการเบียดเบียนชีวิตทั้งปวง อีกทั้งเป็นการสักการะเทพเจ้าและบรรพชน

คำว่า “เจ” ในภาษาจีน หมายถึง “อุโบสถ หรือการรักษาศีล 8” ในพุทธศาสนานิกายมหายาน เป็นการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคหลังเที่ยงวันตามหลักศีล 8 ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เพื่อไม่เบียดเบียนชีวิต ช่วงหลังเติมคำกลายเป็น “กินเจ” ซึ่งหมายรวมถึงการงดเนื้อสัตว์ อาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ รวมถึงการรักษาศีล

เทศกาลกินเจในเมืองไทยเกิดขึ้นพร้อมกับ “โรงเจ” ที่ไหนที่มีชุมชนจีนขนาดใหญ่ ศาลเจ้าและโรงเจก็เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการประกอบพิธีตามความเชื่อ แต่มิใช่ศาลเจ้าทุกแห่งจะเป็นโรงเจโดยอัตโนมัติ โรงเจในความหมายกว้างๆ คือ สถานที่ที่มีการกินเจหรือส่งเสริมการกินเจ ส่วนโรงเจที่จะจัดงานกินเจเดือนเก้า จะต้องมีระเบียบแบบแผนและพิธีกรรมที่กำหนดไว้จึงจะนับว่าเป็นโรงเจตามขนบจีนโบราณ

การกินเจเดือนเก้ามีการปฏิบัติทั้งความเชื่อแบบเต๋า คือการบูชาดวงดาว ความเชื่อตามคติพุทธ (ที่รับคติความเชื่ออื่น ๆ มาแปลงและผสมจนกลมกลืน) คือการบูชาพระพุทธ และพระโพธิสัตว์ทั้งเก้าองค์ ยังมีคติความเชื่อแบบชาวบ้านที่แฝงด้วยพิธีกรรมและขั้นตอนมากมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเคารพเทพ บูชาเจ้า บูชาอาจารย์ ดังปรากฏเป็นสัญลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันในรูปของม้าทรง เป็นต้น

แต่โรงเจทางภาคตะวันออกไม่เหมือนกับโรงเจทางภาคใต้ โรงเจภาคใต้เทพเจ้าจะมาในนามของเทวราชา มาในปางที่เป็นกษัตริย์ ส่วนทางตะวันออกมาในปางพระ ทุกคืนจะมีการสวดมนต์และเดินธูปภายในโรงเจ มีพิธีกรรมสำคัญ เช่น วันแรกของการกินเจหรือวันชิวอิก จะมีการสวดมนต์ 4 เวลา เวียนจนครบ 9 วัน บางแห่งถือโอกาสเลือกกรรมการโรงเจชุดใหม่ มีพิธีลอยกระทงเพื่อเชิญวิญญาณบรรพชนมาที่โรงเจ มีพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพชน เมื่อเสร็จพิธี ของเซ่นไหว้ก็จะแจกคนยากไร้ เรียกว่า การเทกระจาด

คนที่ “เข้าเจ” จริงจัง มักจะนอนค้างโรงเจเพื่อตระเตรียมตัวในการทำพิธีแต่ละวัน ส่วนมากเป็นผู้หญิงหลากหลายวัย โรงเจจึงไม่เคยขาด “แม่ครัว” ที่มาช่วยกันทำอาหารเพื่อเป็นทานให้แก่ทุกคนในเทศกาลนี้

โรงเจเพ่งอังตั๊ว” น่าจะเป็นโรงเจแห่งแรกในฉะเชิงเทรา มีบันทึกว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ในชุมชนตลาด ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ ทุกวันนี้บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียกว่า “ตลาดเก่าคลองสวน 100 ปี” ชุมชนริมคลองแห่งนี้อยู่ติดกับอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แต่เดิมเรียกว่า “ตลาดสามพี่น้อง” ทำการค้าขายมาตั้งสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นเป็นศูนย์รวมการค้าขายของชาวบ้านในย่านเปร็ง หลวงแพ่ง ลาดกระบัง บางพลี ลาดขวาง ท่าถั่ว บางบ่อ หนามแดง และบางเตย โดยใช้เรือสัญจรผ่านคลองพระยาสมุทร

โรงเจอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้ ยังเก็บรักษาภาพเขียนเก่าแก่ที่นำมาจากประเทศจีน ตั้งแต่ตอนสร้างโรงเจ พร้อมรายชื่อผู้บริจาคบนบนแผ่นไม้ที่เขียนด้วยหมึกจีน

เทศกาลกินเจปีนี้แวะไปสำรวมจิต กินอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ที่โรงเจเพ่งอังตั๊ว เดินชมบรรยากาศตลาดเก่าคลองสวน 100 ปี ชื่นชมชีวิตริมน้ำที่ยังคงสงบ ร่มรื่นใจ

TAGS #โรงเจเพ่งอังตั๊ว #เทศกาลกินเจ #ถือศีลกินเจ #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #อยู่ดีกินดีที่แม่น้ำบางปะกง #พายเรือทวนน้ำ

แหล่งอ้างอิง

ภาพจาก : สมุดภาพฉะเชิงเทรา

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
วัดพิมพาวาสจะมีการประกอบพิธี “ตักบาตรน้ำผึ้ง”ทุกวันเพ็ญเดือนสิบ ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญที่ทั่วประเทศเหลือสืบทอดเพียงไม่กี่แห่ง
ผีแถน เทพเจ้าผู้ควบคุมฟ้าฝนของคนอีสาน มีความสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ในฤดูทำนา
งานบุญบั้งไฟฉะเชิงเทรา หรือ บั้งไฟท่าตะเกียบ จัดขึ้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นงานประเพณีที่สืบทอดจากชาวอีสาน มีขบวนแห่ การแสดง และการจุดบั้งไฟที่น่าตื่นตาตื่นใจ
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจลำดับสี่ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว พืชตระกูลหญ้าที่ให้ความหวานนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 400 ปีก่อน สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียนำเข้ามา แม้ถิ่นกำเนิดของอ้อยจะอยู่ในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เส้นทางการค้าเมื่อกว่าพันปีก่อนก็ทำให้อ้อยขยายไปทั่วเอเชีย
ต้นปีจนถึงฤดูร้อน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวมักจะมาลงเรือไปดูโลมาอิรวดี ซึ่งบริเวณนี้พบประมาณ 40-50 ตัว ในน่านน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงทุกวันนี้
สวนผลไม้ที่ราชทูตฝรั่งเศสมองเห็นจากริมฝั่งแม่น้ำเมื่อกว่า 300 ปีนั้นเป็น “สวนยกร่อง”