บั้งไฟฉะเชิงเทรา

งานบุญบั้งไฟฉะเชิงเทรา หรือ บั้งไฟท่าตะเกียบ จัดขึ้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นงานประเพณีที่สืบทอดจากชาวอีสาน มีขบวนแห่ การแสดง และการจุดบั้งไฟที่น่าตื่นตาตื่นใจ
นายบุญนาค พรพจน์ธนมาศ นายก อบต.คลองตะเกรา

บุญบั้งไฟในภาพจำของคนส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่จัดในภาคอีสาน เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของคนอีสานที่จัดขึ้นตอนเดือนหก ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนที่จะเริ่มทำนา การจุดบั้งไฟเป็นการบูชา (เตือน) “ผีแถน” หรือพญาแถน ผู้คอยดูแลให้ฝนตกตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะได้อุดมสมบูรณ์

แต่อันที่จริง บุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่จัดทั่วทุกภาค อย่างภาคเหนือตอนล่าง เช่น ที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ที่อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ที่ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคกลางก็มีที่บ้านเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และหลายหมู่บ้านในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ไปจนถึงสระแก้ว แม้แต่ภาคใต้ก็ยังเคยมีการจัดบุญบั้งไฟที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ที่ว่า “เคย” เพราะเดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีการจัดแล้ว 

วัฒนธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์มักนำติดตัวไปด้วยเมื่ออพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น คนอีสานที่ไปทำงานไกลบ้านจนลงหลักปักชีวิตในถิ่นฐานใหม่ เมื่อรวมกันจนเป็นชุมชนใหญ่ก็จะใช้วัฒนธรรมและความเชื่อที่ติดตัวเป็นเครื่องร้อยใจของคนที่มาจากพื้นเพภาคเดียวกัน ถ้าชุมชนใกล้เคียงเห็นงามกับสิ่งที่ทำ วัฒนธรรมนั้นก็งอกเงย แต่ในภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม การจัดบุญบั้งไฟซึ่งอิงบนฐานความเชื่อเรื่องผีเรื่องเทพเทวดาจึงเลือนหายไปในที่สุด

เริ่มต้นที่บ้านหนองคอก

บุญบั้งไฟในภาคกลางที่จัดได้อลังการ ทั้งรถเอ้บังไฟ ขบวนเซิ้ง และการยิงบั้งไฟได้ใกล้เคียงกับอีสานที่สุด น่าจะเป็น “บุญบั้งไฟท่าตะเกียบ” เรียกว่าบุญบั้งไฟ (อำเภอ) ท่าตะเกียบ แต่อันที่จริงจัดในตำบลคลองตะเกรา ต้นคิดที่ริเริ่มจัดงานนี้คือผู้ใหญ่หนู นาสพัฒน์ ผู้นำชุมชนคนแรกของบ้านหนองคอก คนยโสธรที่ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่นี่เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว

ชาติ ฤาไน เลขานุการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า บุญบั้งไฟที่นี่เริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2523 ในระยะแรกจัดที่บ้านหนองคอกอย่างเดียว 

“สมัยนั้นบ้านหนองคอกขึ้นอยู่กับอำเภอสนามชัยเขต บ้านหนองคอกตอนนั้นมีหย่อมบ้านที่อยู่ร่วมกัน คือ บ้านเกาะลอย เกาะกระทิง ทุ่งส่าย ห้วยตะปอก สามพราน หย่อมบ้านดังกล่าวนี้ก็รวมกันจัดบุญบั้งไฟในช่วงแรก ๆ เพราะทั้งหมดนี้ ร้อยละ 80 มาจากอีสานทั้งนั้น มีทั้งยโสธร บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย จากคำชะอี-มุกดาหาร”

ในปี 2526 ตำบลคลองตะเกราแยกออกจากตำบลท่าตะเกียบ หย่อมบ้านต่าง ๆ แยกออกเป็น 6 หมู่บ้าน พอมีการตั้งกิ่งอำเภอท่าตะเกียบในปี 2533 ตำบลคลองตะเกรา (และตำบลท่าตะเกียบ) ก็แยกออกจากอำเภอสนามชัยเขต มาขึ้นกับกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ ทุกวันนี้ตำบลคลองตะเกรามีทั้งหมด 25 หมู่บ้าน

“จาก 6 หมู่บ้านที่จัดงานด้วยกันเมื่อ 40 ปีก่อน ตอนนี้ก็ร่วมกันทั้งหมด 20 หมู่บ้าน วัดตามจำนวนรถเอ้ (รถประดับตัวบั้งไฟ) ที่มี 20 คัน หมู่บ้านที่เหลือส่วนใหญ่เป็นคนจีน เขาไม่ได้ร่วมจัดแต่ก็มาเที่ยว”

คนเชื้อสายจีนเข้ามาอยู่ที่คลองตะเกราส่วนใหญ่มาจากชลบุรี มาตั้งหลักแหล่งเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีมานี้ ส่วนใหญ่เข้ามาทำสวนยาง สวนปาล์ม และค้าขาย 

“มีคนสงสัยว่า ที่ลุ่มน้ำบางปะกงนี่ไม่ได้แห้งแล้งเหมือนอีสานสักหน่อย ทำไมต้องจัดบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน เรื่องนี้อธิบายได้สองประเด็นครับ ประเด็นแรก คลองตะเกราเมื่อ 50-60 ปีก่อน เรียกว่าเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ทุรกันดารมาก (เพราะไม่มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำ) แล้วก็แห้งแล้งมาก ชาวบ้านที่มาบุกเบิกที่นี่ต้องเดินเท้ากัน 4-5 กิโลเมตร เพื่อไปหาบน้ำจากคลองตะเกราใส่รถเอามาใช้ จริงอยู่เรามีป่าไม้สมบูรณ์ แต่ไม่มีน้ำ น้ำที่ไปหาบมาก็ขุ่นมาก ต้องใช้สารส้มกวนก่อนถึงพอใช้ได้”

พื้นที่ตำบลคลองตะเกรา เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติแควระบม-สียัด (ป่าสงวนผืนนี้กินพื้นที่หลายจังหวัด) และเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง ทุกวันนี้ตำบลคลองตะเกราซึ่งมีประชากรกว่า 25,000 คน ห่างไกลจากคำว่าแห้งแล้งมาก เพราะมีฝายถึง 30 แห่ง มีสระน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วตำบลกว่า 120 แห่ง มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14 อ่าง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่มีความจุประมาณ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร

“ประเด็นที่สอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเหตุผลหลักเลยครับ คือเป็นกุศโลบายของผู้ใหญ่หนูที่ต้องการให้ชาวบ้าน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ป่าอยู่ดง ได้มีโอกาสสนุกสนานกันปีละครั้ง ทั้งยังได้สืบสานประเพณีบั้งไฟของคนอีสานไปด้วย ได้แต่งตัวสวยงาม ได้มาฟ้อน ได้มาเล่นโคลน ตรงกับธรรมชาติคนอีสานที่ชอบร้องรำ นิสัยสนุกสนาน” บุญบั้งไฟกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน

ปีแรก ๆ ที่จัดงาน ชาวบ้านเรี่ยไรเงินมาช่วยกันทำรถเอ้บั้งไฟ บั้งไฟแต่ละอันที่เข้าขบวนแห่จะผ่านการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยการตัดเป็นลวดลายกนกและเครือเถาด้วยกระดาษสีทองแล้วจึงทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟทำเป็นรูปต่าง ๆ โดยนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากพ่นน้ำ จนเมื่อมีการตั้ง อบต.คลองตะเกรา ในปี 2538 มีการจัดงบประมาณเพื่อกิจกรรมนี้ และเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ ทำให้งานบุญบั้งไฟกลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา จาก “บั้งไฟท่าตะเกียบ” ก็กลายเป็น “บั้งไฟฉะเชิงเทรา” ในการจัดงานสองวัน มีคนมาเที่ยวไม่น้อยกว่าพันคน ล่าสุด อบต.คลองตะเกรามีโครงการทำ MOU กับ อบต.ตำบลท่าตะเกียบ เพื่อจัดงานร่วมกันในอนาคต 

บั้งไฟทะลุฟ้า

ไฮไลท์ของงานบั้งไฟ ก็คือการจุดบั้งไฟ การแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลจาก อบต.คลองตะเกรา ซึ่งมี 3 รางวัล แต่ในความเป็นจริง คนทำบั้งไฟมีเป็นร้อย (บั้งหนึ่งลงทุน 2-3 พันบาท) จึงมี “สนาม” สำหรับการพนันขันต่อกันนอกรายการ

บั้งไฟมีอยู่หลายชนิด ถ้าในอีสานจะมีบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน แต่ละอย่างแบ่งตามน้ำหนักดินประสิวที่ใส่ในลูกบั้งไฟ เช่น บั้งไฟกิโลใช้ดินประสิวหนัก 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม และบั้งไฟแสนซึ่งสูงประมาณเสาไฟฟ้าใช้ดินประสิว 10 หมื่น หรือ 120 กิโลกรัม เป็นต้น ส่วนที่ฉะเชิงเทราทำบั้งไฟหน้าสาม (ทำจากท่อพีวีซี 3 นิ้ว) บั้งไฟหน้าสอง (ทำจากท่อพีวีซี 2 นิ้ว) ขนาดความยาวไม่เกิน 1.10 เมตร สองชนิดนี้เรียกว่าบั้งไฟขนาดเล็ก นอกจากนั้นก็มีบั้งไฟแสนใช้ท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ซึ่งต้องทำนั่งร้านสูงไว้เพื่อส่งบั้งไฟที่ยาวขนาดเสาไฟฟ้า และบั้งไฟตะไลเป็นบั้งไฟวงกลมที่มีไม้ไผ่ทำเป็นรอบวงกลม ใส่ดินประสิวตรงกลาง เวลาจุดจะหมุนเป็นวงกลม อันนี้เป็นบั้งไฟประเภทสวยงาม

คุณชาติ อธิบายถึงการตัดสินการยิงบั้งไฟว่า จะมีกรรมการ 3 คน แต่ละคนมีกล้องส่องทางไกลพร้อมนาฬิกาจับเวลา ทันทีที่บั้งไฟยิงขึ้น กรรมการจะเริ่มขานเวลา 

“กรรมการจะจับเวลาเป็นวินาที ลูกบั้งไฟส่วนใหญ่จะสูงจนลับสายตา ส่วนจะขึ้นนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ามันติดลมบนนานแค่ไหน ถ้าคนทำถ่วงหางดี มันก็ติดลมบนนาน” เมื่อลูกบั้งไฟตกถึงพื้น นาฬิกาก็จะหยุด กรรมการก็จะขานเวลา เคยขึ้นนานที่สุดคือ 400 วินาที (ประมาณ 6 นาทีเศษ) บรรยากาศการเชียร์บั้งไฟจึงเร้าใจพอ ๆ กับเชียร์เรือยาวอีตอนจ้วงแบบบึ๊ดจั้มบึ๊ด

ทุกวันนี้การยิงบั้งไฟต้องทำเรื่องขออนุญาตจากหน่วยงานการบิน หลังจากมีข่าวบั้งไฟกาฬสินธุ์พุ่งสูงเกือบชนเครื่องบิน (ซึ่งบินอยู่ในระดับ 8,000 ฟุต)

===================================

บุญบั้งไฟจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดขึ้นในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2567 พื้นที่จัดงานอยู่ที่ตลาดหนองคอก หมู่ที่ 2 (วัดหนองคอก) และลานทุ่งหญ้าบ้านเกาะกระทิง หมู่ที่ 13 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน เป็นวันเปิดงาน จะเริ่มตั้งแต่บ่ายโมงโดยขบวนรำเซิ้ง จะฟ้อนนำรถเอ้บั้งไฟเคลื่อนที่จากวัดเนินสามทหาร บ้านหนองคอก ไปตามถนนสายในชุมชนตลาดหนองคอก และการรำบวงสรวงศาลพ่อปู่สมิงไพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวใจคนบ้านหนองคอก จากนั้นจึงไปถึงปะรำพิธีเปิดงาน ณ ลานทุ่งหญ้าเหนืออ่างเก็บน้ำบ้านเกาะกระทิง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ประธานการจัดงานทำพิธีเปิดงานแล้ว ก็จะต่อด้วยการแสดงดนตรีพื้นบ้าน

วันรุ่งขึ้น อาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน คือวันจุดบั้งไฟ โดยจะเริ่มประมาณ 10 โมงเช้าที่ลานทุ่งหญ้าบ้านเกาะกระทิง นอกจากการแข่งขันจุดบั้งไฟแล้วยังมีการออกร้านอาหาร การแสดงดนตรี มหรสพต่าง ๆ และการแข่งขันมอเตอร์ไซค์วิบาก

===================================

ขอบคุณข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา และคุณชาติ ฤาไน เลขานุการ นายก อบต.คลองตะเกรา 

===================================

TAGS #บั้งไฟฉะชิงเทรา #บั้งไฟบ้านหนองคอก #บั้งไฟคลองตะเกรา #บั้งไฟท่าตะเกียบ #อยู่ดีกินดี #วิถึริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #พายเรือทวนน้ำ

Share:

ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
“เคยแห้ง” ก็ทำได้แบบนั้น เคยตากแห้งกลิ่นหอมนุ่ม ไม่หอมแรงเหมือนกุ้งแห้ง เคยแทนที่กุ้งทุกอย่างไม่ได้ก็จริง

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
โรงเจแห่งแรกในฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ใน ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
วัดพิมพาวาสจะมีการประกอบพิธี “ตักบาตรน้ำผึ้ง”ทุกวันเพ็ญเดือนสิบ ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญที่ทั่วประเทศเหลือสืบทอดเพียงไม่กี่แห่ง
ผีแถน เทพเจ้าผู้ควบคุมฟ้าฝนของคนอีสาน มีความสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ในฤดูทำนา
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจลำดับสี่ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว พืชตระกูลหญ้าที่ให้ความหวานนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 400 ปีก่อน สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียนำเข้ามา แม้ถิ่นกำเนิดของอ้อยจะอยู่ในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เส้นทางการค้าเมื่อกว่าพันปีก่อนก็ทำให้อ้อยขยายไปทั่วเอเชีย
ต้นปีจนถึงฤดูร้อน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวมักจะมาลงเรือไปดูโลมาอิรวดี ซึ่งบริเวณนี้พบประมาณ 40-50 ตัว ในน่านน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงทุกวันนี้
สวนผลไม้ที่ราชทูตฝรั่งเศสมองเห็นจากริมฝั่งแม่น้ำเมื่อกว่า 300 ปีนั้นเป็น “สวนยกร่อง”