มนุษย์มีความเชื่อในอำนาจลึกลับอย่างเรื่อง “ผี” มานานกว่าสามพันปี “ผี” เป็นศาสนาแรกเริ่ม แตกต่างกันไปตามคตินิยมในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนาผีทำหน้าที่รักษากฎกติกาทั้งในครอบครัว ในชุมชน เพื่อให้สังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต่างจากศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ในสังคมลุ่มน้ำโขง คำว่า “ผี” ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิญญาณ การตาย สวรรค์ นรก ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแบบหวาดผวา สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายความว่า “ผี” เป็นคำในตระกูลภาษาไท-ไต-ไทย-ลาว หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติอยู่ในโลกต่างมิติ ที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น
“แถน” ในความเชื่อที่เกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟ คือผีในความหมายนี้ เป็นผีผู้เป็นที่พึ่งของคนในลุ่มน้ำโขง
ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า ผีมีสองประเภท คือ ผีดิน กับ ผีฟ้า “ผีดิน” คือผีบรรพชนพื้นเมือง พบทั่วไปในชุมชนเก่าแก่แรกเริ่ม มีก่อนที่จะมีผีฟ้า ส่วน “ผีฟ้า” เป็นผีที่มีความเชื่อมาจากตอนบนของโซเมีย (Zomia) (ตอนใต้ของจีนบริเวณทะเลสาบคุนหมิง มณฑลยูนนาน) คำว่า “ฟ้า” ในคำภาษาจีน เรียกว่า “เทียน” คำว่า “เทียน” และถูกแผลงจนกลายเป็นคำว่า “แถน” ในที่สุด
หนังสือพงศาวดารโยนก เขียนโดย พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) อธิบายว่า “แถน” มีการพูดถึงมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว “แถน” มาจากคำจีน “เทียน” แปลว่า ฟ้า แถนจึงหมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า หรือผู้ควบคุมอำนาจเหนือธรรมชาติบนฟ้า บ้างก็เรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า มีความใกล้ชิดกับสมาชิกพลโลก และมีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะผู้ให้ (แถน) กับผู้รับ (มนุษย์)
ผู้สร้างของคนอีสาน
แถน เป็นความเชื่อที่ปรากฏในหมู่คนไทยในภาคเหนือ คนไทยใหญ่ในพม่า คนจีนในแคว้นสิบสองปันนา คนไทยในภาคอีสาน และผู้คนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แถนเป็นเทพเจ้าสูงสุด มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและประเพณี ด้วยว่าแถนคือผู้ปกปักรักษาและดลบันดาลคุณ-โทษให้มนุษย์ แถนยังเป็นเทพเจ้าสูงสุดในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีกรรมบูชาผีฟ้าผีแถน พิธีกรรมเหยา ประเพณีบุญบั้งไฟ จนถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับขวัญ (ขวัญแรกเกิด ขวัญนา ขวัญข้าว ฯลฯ)

สำหรับคนอีสาน แถนคือเทพศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ผู้สร้างดิน น้ำ ลม ไฟ ผู้ควบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่ง การบูชาแถน (และอำนาจเหนือธรรมชาติที่หลากหลาย) จึงไม่เคยเสื่อมคลาย เพราะชีวิตคนอีสานผูกติดกับการเกษตรที่พึ่งพาฟ้าฝน ซึ่งผีแถนเป็นผู้ควบคุม ก่อนถึงหน้าทำนา คนอีสานจึงมีการจัดจัดพิธี “เลี้ยงผีปู่ตา บูชาพญาแถน” เป็นการเสี่ยงทายเรื่องฟ้าฝนว่าจะอุดมสมบูรณ์เพียงใด

ในประเพณีบุญบั้งไฟ แถนเป็นเทพแห่งฝน เรียกเป็นภาษาสันสกฤต (ตามคติความเชื่อพราหมณ์ที่มาในภายหลัง) ว่า “เทพวัสสกาล” คือผู้ประทานน้ำฝนให้ตกต้องตามพยากรณ์ บุญบั้งไฟจึงจัดขึ้นในช่วงเดือนหก ไล่เรียงจากฮีตสิบสองเดือนในประเพณีอีสาน จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุญเดือนหก” เป็นการเริ่มต้นฤดูการทำนาในช่วงฝนห่าแรกของปี


อันที่จริง ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูการทำนา อีสานจะมีพิธีกรรมหลายอย่าง ได้แก่ ไหว้ผีตาแฮก ไหว้ปู่ตา และการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เป็นพิธีกรรมปิดท้าย
คนอีสานที่โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น อาจจะไม่ได้แยกพิธีกรรมตามลำดับครบถ้วน แต่นำมาผสมกลมกลืนกันในการจุดบั้งไฟเลยที่เดียว อย่างเช่น บุญบั้งไฟฉะเชิงเทราปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2567 ที่บ้านหนองคอก ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ ก็มีพิธีบวงสรวงศาลพ่อปู่สมิงไพร ซึ่งเป็นการไหว้ผีปู่ตา ก่อนจะถึงวันจุดบั้งไฟ


นอกเหนือจากตำนานต่าง ๆ บุญบั้งไฟคือความสนุกสนาน เป็นเครื่องร้อยใจคนให้มารวมกัน เป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้น เมื่อแถนประทานฝนลงมาเพียงพอแล้ว ชาวบ้านก็จะลอยว่าวขึ้นบนฟ้าในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เป็นสัญญาณบอกแถนให้หยุดปล่อยน้ำฝนได้แล้ว
ความงดงามของวัฒนธรรมอยู่ตรงความเข้าใจในสัญลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย…ดีต่อใจ
TAGS #ผีแถน #พญาแถน #บั้งไฟฉะเชิงเทรา #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #พายเรือทวนน้ำ