บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงเป็นพื้นที่น้ำกร่อย สามารถพบโลมาและวาฬ 4 ชนิดคือ โลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
สัตว์ทะเลทั้ง 4 ชนิด สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ขึ้นป้าย “Red list” คือใกล้สูญพันธุ์ เพราะสูญเสียถิ่นอาศัยและแหล่งอาหาร ในบรรดา 4 ชนิดนี้ คนบางปะกงคุ้นเคยและใกล้ชิดกับโลมาอิรวดีมากที่สุดเพราะหากินใกล้ฝั่ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบโลมาอิรวดีมาหากินแถววัดหงส์ทอง หรือวัดกลางน้ำที่อยู่ในตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง

สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 6 แห่งทั่วประเทศ* จะออกสำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ทุกปีเพื่ออัพเดทสถานการณ์ ข้อมูลจากการสำรวจจะเป็นตัวชี้วัดว่าควรจะมีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างไร
อย่างโลมาอิรวดี เฉพาะที่ปากแม่น้ำบางปะกง เมื่อ 50 ปีก่อนเคยพบเป็นร้อยตัว การสำรวจต่อเนื่องพบว่าลดลงเหลือประมาณ 50 ตัว และการสำรวจปีที่แล้วเหลือเพียง 22 ตัว ถ้าภัยคุกคามยังไม่ลดลง ปีต่อๆ ไปสัตว์ทะเลหายากชนิดนี้คงเหลือแต่ภาพถ่าย

คุณภาพน้ำ ขยะ เป็นสาเหตุใหญ่ แต่ภัยคุกคามที่หนักไม่น้อยกว่ากันคือ สัมปทานการประมงพาณิชย์ที่กินพื้นที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ที่อยู่และที่กินของโลมาหดลง สาเหตุการตายของโลมาอิรวดีบางครั้งก็เพราะติดอวนประมง โลมาอิรวดี 22 ตัวที่สำรวจพบล่าสุดเป็นชุดประชากรเดียวกันกับที่พบที่ชลบุรีตรงบริเวณฟาร์มหอยกับกระชังปลาทะเล พิกัดดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารที่ชุกกว่าทะเลด้านบางปะกงในเวลานี้ ซากหัวปลาดุกทะเลที่ลอยบริเวณดังกล่าวเป็นเบาะแสที่ช่วยในการสำรวจ (ปลาดุกทะเลเป็นอาหารของโลมาอิรวดี น้องจะกินแต่ตัว ไม่กินหัวเพราะหัวปลาดุกมีเงี่ยง)

มีความพยายามที่จะฟื้นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี อย่างเช่น โครงการบ้านปลาของชุมชนบ้านบน (วัดบนคงคาราม) เป็นงานฟื้นป่าชายเลนและสร้างแหล่งอาหารให้โลมาอิรวดีกลับคืนมา เมื่อก่อน ที่นี่เป็นจุดชมโลมาอิรวดีของบางปะกง ชาวบ้านเคยมีรายได้จากการขายสินค้าที่ระลึกที่โยงกับโลมาอิรวดี อย่างเช่นเสื้อผ้า นี่เป็นความพยายามที่ทุกคนเอาใจช่วย

การท่องเที่ยวเพื่อ “ชมโลมา” เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเซฟโลมาอิรวดี และอาจเป็นแรงกระตุ้นให้บางปะกงลุกขึ้นมาจัดการเรื่องนี้แบบจริงจัง และการจัดการพื้นที่ประมงพาณิชย์เหมือนกับที่จังหวัดตราดทำสำเร็จ โลมาอิรวดีที่พบในจังหวัดตราดมีประมาณ 50-60 ตัว (พบบริเวณอ่าวตราดและแหลมกลัด) และจำนวนประชากรไม่ลดเพราะตราดทำพื้นที่คุ้มครองอย่างชัดเจน
TAGS
#โลมาอิรวดี #โลมาหัวบาตร #โลมาหัวหมอน #แชร์โลมา #โลมาบางปะกง #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #อยู่ดีกินดีที่แม่น้ำบางปะกง #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า