จากไม่จาง ที่บางปะกง (ตอนที่ 1)

ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงมีพันธุ์ไม้มากกว่า 80 ชนิด แต่ชนิดที่คนใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน คือต้นจาก สมัย 40-50 ปีก่อน จากเป็นพืชที่ผูกพันกับทุกชีวิต อาหาร วัสดุมุงหลังคาบ้าน ฝาผนัง ของเล่นของเด็กน้อย รายได้ที่ส่งลูกเรียนจนจบ ล้วนได้มาจากพืชตระกูลปาล์มที่วิวัฒนาการจนปรับตัวอยู่ในน้ำเค็มชนิดนี้
ต้นจากที่ยังมีเหลือเป็นกลุ่มเล็กๆ บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง

ไม่ถึง 50 ปีที่แล้ว คนที่อยู่แถวบางปะกงเคยพายเรือใช้มือเปล่าช้อนกุ้งตัวโต ๆ ขึ้นมาเป็นอาหารได้ เวลานั้นธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า แนบแน่นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้ถูกจัดให้เป็น “ทรัพยากรธรรมชาติ” ที่มีกฎเกณฑ์กำหนดการเข้าถึงอย่างทุกวันนี้

ไม่ถึงชั่วอายุคน ๆ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจแผนใหม่ทำให้ธรรมชาติทุกอย่างเสื่อมโทรมและทวีความรุนแรงทุกนาที ทว่าเราต่างก็รู้อยู่แก่ใจและเศร้าใจว่ามนุษย์ไม่มีวันยอมถอยกลับไปสู่จุดเดิม ระบบเศรษฐกิจได้ดูดกลืนธรรมชาติทุกอย่าง แล้วคายออกมาป้อนเราให้สะดวกสบายในรูปของ “การบริโภค”

การบริโภคอย่างสะดวกสบายมีราคาที่ต้องจ่าย และมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถจ่ายในราคาที่เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ คนจนกับป่าจึงยังคงมีความผูกพันเพราะต้องพึ่งพาป่าเพื่อดำรงชีวิต นี่เป็นชีวิตที่ห่างไกลความสะดวกสบาย ทว่าเบิกบานด้วยอิสรภาพในใจ

ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงมีพันธุ์ไม้มากกว่า 80 ชนิด แต่ชนิดที่คนใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน คือต้นจาก สมัย 40-50 ปีก่อน จากเป็นพืชที่ผูกพันกับทุกชีวิต อาหาร วัสดุมุงหลังคาบ้าน ฝาผนัง ของเล่นของเด็กน้อย รายได้ที่ส่งลูกเรียนจนจบ ล้วนได้มาจากพืชตระกูลปาล์มที่วิวัฒนาการจนปรับตัวอยู่ในน้ำเค็มชนิดนี้

บทความวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากต้นจากในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา* ระบุว่า ทุกวันนี้ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรายังมีการใช้ประโยชน์จากต้นจากโดยแบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ หนึ่ง-ประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ได้แก่ การนำใบจากมาทำตับเพื่อมุงหลังคาและห่อขนมจาก ยอดจากสดใช้ห่อข้าวต้มมัด ยอดจากแห้งใช้ทำมวนยาสูบ ผลอ่อนทำขนมหวาน และสอง-ใช้ประโยชน์ในระดับครัวเรือน ได้แก่ ดอกจากอ่อนใช้ทำอาหาร ก้าน ใบทำไม้กวาด ก้านดอกทำแส้ไล่แมลงและไม้เกาหลัง ผลจากอ่อนใช้ทำอาหาร เปลือกของผลที่เหลือใช้ทำปุ๋ยหรือเป็นเชื้อเพลิง

ทุกส่วนของต้นจากสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งของกินและของใช้ ต้นจากยังสามารถแพร่พันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องลงทุนลงแรงปลูกเพิ่ม ทำให้การประกอบอาชีพของคนทำจาก ไม่ต้องอาศัยทุน มีแต่ลงแรง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พื้นที่ป่าชายเลนเริ่มลดลง ป่าจากซึ่งเคยหนาแน่นตามแนวลำคลองสาขา ยังถูกทำลายด้วยการขุดลอกคู คลอง การใช้ประโยชน์จากต้นจากลดลง เหลือเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังเห็นคุณค่าการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและสร้างรายได้

แต่ค่าครองชีพที่สูงอย่างทุกวันนี้ น่าสงสัยว่าการทำจากยังพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้จริง ๆ หรือ?

"ผู็เใหญ๋เอ" คุณรัชดาวรรณ ธรรมวิญญา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา  ย้อนอดีตผืนป่าจากและอาชีพที่หาอยู่หากินกับป่าจากให้ทีมงานอยู่ดี กินดี ฟัง
“ผู็เใหญ๋เอ” คุณรัชดาวรรณ ธรรมวิญญา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ย้อนอดีตผืนป่าจากและอาชีพที่หาอยู่หากินกับป่าจากให้ทีมงานอยู่ดี กินดี ฟัง

จากที่จางแล้ว

ชุมชนบ้านล่าง ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง เคยเป็นหมู่บ้านที่คนหาอยู่หากินกับป่าจาก ทุกวันนี้ไม่มีใครพึ่งพาป่าจาก ไม่มีคนหนุ่มสาวนั่งทำจากเหมือนเมื่อก่อน โรงงานอุตสาหกรรมดูดคนเข้าระบบด้วยผลตอบแทนสูงกว่าการทำจากอย่างเทียบไม่ได้

“ผู้ใหญ่เอ” คุณรัชดาวรรณ ธรรมวิญญา ผู้นำชุมชนบ้านล่าง (หมู่ 2) ย้อนอดีตที่เหลือแต่คำบอกเล่าว่า สมัยก่อนที่นี่เป็นป่าตะบูนกับป่าจาก ใครมีที่ดินของตัวเองก็เท่ากับมีป่าจากไว้ใช้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าไปตัดจาก เพราะงานตัดจากต้องอาศัย“สกิล” ที่บ่มไว้นาน ทั้งความรู้เรื่องจากและความรู้เรื่องธรรมชาติ “ยายจะเป็นคนเข้าไปตัดทางจากตอนน้ำลง ตัดเสร็จแล้วก็มัดรวมไว้ พอน้ำขึ้นก็เข็นเรือไปขนมัดจากออกมาไว้ที่โรงจาก”

“โรงจาก” เป็นพื้นที่โล่งกองทางจากไว้รอการทำเป็นตับมุงหลังคา ผู้หญิงมารวมกันทำจาก ผู้ชายออกทะเล รายได้หลักของชุมชนในสมัยนั้นคือประมงกับการเย็บตับจาก

“พวกผู้หญิงที่เสร็จงานบ้านก็มานั่งเย็บจาก ลูก ๆ ก็เล่นอยู่แถวนั้นแหละ เด็ก ๆ จะเอาหนังยางมารัดไม้ขนาบทำปืนยิงกัน ทำม้าขี่ อาบน้ำริมคลองก็ไม่ต้องมาอาบน้ำจืดซ้ำ ป่าริมน้ำคือบ้าน คือโรงเล่น โรงเรียน โรงทำงาน พอทำตับได้จำนวนมาก ๆ พ่อค้าก็จะมาขนใส่เรือล่องไปขายที่ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นต้นน้ำบางปะกง”

ป่าตะบูนและป่าจากหลายผืนในบ้านล่าง เปลี่ยนมือในช่วงทศวรรษ 2520 มีการกว้านซื้อไว้นานนับสิบปีก่อนจะทยอยสร้างโครงการต่างๆ สอดรับการสร้างถนนที่เชื่อมจังหวัด โดยตัดขวางคลองสามน้ำออกเป็นสองส่วน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ผุดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536-2537 ในจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทราทั้งหมด 1,352 แห่ง อยู่ในอำเภอบางปะกงถึง 587 แห่ง (ข้อมูลปี 2566) โรงงานอุตสาหกรรม และจำนวนแรงงาน – ฉะเชิงเทรา (citydata.in.th)

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ต้นจากตาย ด้วยสาเหตุจากการตัดถนนผ่าคลอง ทำให้น้ำเค็มขัง ไม่ขึ้นลงตามธรรมชาติ ผสมกับปัญหาน้ำเสียที่จากการถ่ายเทของโรงงานอุตสาหกรรม ป่าจากที่เคยแน่นทึบ ทุกวันนี้เหลือประมาณ 200 ต้น

“ป้าเขียว” คุณอาด นามสว่าง อดีตมือวางอันดับต้น ๆ การมัดตับจาก ที่วางมือเพราะความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและพื้นที่ทำกิน
“ป้าเขียว” คุณอาด นามสว่าง อดีตมือวางอันดับต้น ๆ การมัดตับจาก ที่วางมือเพราะความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและพื้นที่ทำกิน

“สมัยก่อนกฎเกณฑ์การทำโรงงานยังไม่เข้มงวด โรงงานบางแห่งไม่ยอมทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ปล่อยน้ำลงคลองเลย พอป่าจากเหลือน้อยลง คนทำก็น้อยลง ผู้หญิงก็ไปทำงานโรงงานแทน ประกอบกับมีวัสดุอื่นมาทดแทนการใช้ตับจาก ความต้องการก็น้อยลง ทั้งชุมชนหมู่ 2 เวลานี้เหลือบ้านที่ยังมุงหลังคาจากเพียงหลังเดียว”

“ป้าเขียว” คุณอาด นามสว่าง เคยเป็นคนทำจากที่วางมือแล้ว แต่บรรยากาศเก่า ๆ ในโรงจากเมื่อ 40 ปีก่อนยังแจ่มชัด โดยมีลูกสาว “พี่อ้วน” คุณรตนพร สะพง มาช่วยฟื้นความจำ

“ชาวบ้านจะนั่งเรียงกันเป็นแถวในโรงจาก ไม่ต้องออกทำงานข้างนอก เวลาทำงานก็ไม่ได้กำหนด พอส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จแล้ว ก็พากันหิ้วกระติกน้ำกับวิทยุทรานซิสเตอร์ นั่งทำไป ฟังนิยายไป ไม่ต้องดูเวลา พอนิยายเรื่องนี้มาก็เป็นสัญญาณบอกว่าลูกจวนเลิกเรียนแล้ว ก็ออกไปรับลูกกลับบ้าน”

“พี่อ้วน” คุณรตนพร สะพง ลูกสาวป้าเขียว สาธิตการใช้ส่วนต่างๆ จากต้นจากเพื่อใช้มัดขึ้นตับจาก
“พี่อ้วน” คุณรตนพร สะพง ลูกสาวป้าเขียว สาธิตการใช้ส่วนต่างๆ จากต้นจากเพื่อใช้มัดขึ้นตับจาก

พี่อ้วนบอกว่า สมัยก่อนบ้านใครมีที่ดินส่วนตัว ก็แปลว่ามีป่าจากในที่ดินของตัวเอง บ้านของพี่อ้วนก็เคยมีป่าจาก แม่จะเข้าป่าตัดจาก ส่วนพ่อออกทะเลหาปลา การตัดจากก็ใช้หลักการเดียวกับการตัดหน่อไม้ คือเหลือหน่อพี่ไว้เลี้ยงน้อง การตัดจากก็ต้องเหลือใบอ่อนไว้เลี้ยงน้อง ไม่ตัดจนหมดรอบต้น

การตัดจากต้องรอน้ำขึ้นน้ำลง คือตัดตอนน้ำลง มัดใบจากเป็นกอง ๆ ทิ้งไว้ แล้วค่อยเอาเรือไปขนตอนน้ำขึ้น “บางวันน้ำลงตอนมืด เราก็ต้องไปตัด ยุงก็เยอะ มันก็ลำบากนะ พอสนามกอล์ฟมาขอซื้อที่ก็พากันขาย บางคนไม่อยากขาย อย่างเช่นบ้านผู้ใหญ่เอก็จำใจต้องขาย เพราะบ้านเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลาง ที่รอบ ๆ ขายกันหมดแล้ว ถ้าไม่ขายก็ไม่มีทางเข้าออกบ้าน” พี่อ้วนเปิดใจ

ป้าเขียวบอกว่า การเย็บตัดจากมีอุปกรณ์ 3 ชิ้น หนึ่ง-ใบจาก สอง-ขนาบหรือทางจากที่ลิดใบออกทั้งสองด้านแล้ว จากนั้นเอาไปตากแดด เมื่อแห้งแล้วขอบขนาบจะม้วนงอเข้าหากัน มีช่องที่เหมาะเจาะในการเสียงใบจากเพื่อเย็บเรียงเป็นตับ และสาม-คล้า (ที่ลอกเปลือกแล้ว) ใช้เป็นเชือกเย็บใบจากที่เรียงเพื่อต่อให้เป็นตับ แต่สมัยนี้ใช้เชือกพลาสติก PP หรือเชือกฟาง เพราะไม่มีต้นคล้าแล้ว

ขนาบตับจากยาวประมาณ 1.10 เมตร ภาษาบ้าน ๆ เรียกว่า เรียกว่า สองศอกกับหนึ่งคืบ ที่กำหนดอย่างนี้เพราะเป็นขนาดที่เหมาะที่สุดในการซ้อนมุงหลังคา ขนย้ายก็ไม่เกะกะเกินไป ตับหนึ่งใช้ใบจากประมาณ 10 กว่าชุด ชุดหนึ่งมี 3 ใบ พอทำเสร็จก็ตากแดดจัด ๆ ประมาณ 4-5 วัน ห้ามโดนฝน ไม่อย่างนั้นจากจะบานแล้วก็นิ่ม “ตอนหน้าฝน คนทำจากก็ต้องวิ่งเอาเข้าร่มมาเก็บ ฝนหยุดก็เอาออกไปตาก” ป้าเขียวอธิบาย

การใช้ทางจากมาเป็นขนาบเรียงตับมีข้อดีตรงที่มอดไม่กิน ต่างจากการใช้ไม้ไผ่ทำตับจาก (ของบางชุมชน) ที่อาจเจอปัญหามอด ถ้าไม้ไผ่ไม่แก่ เนื้อไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่จัดยังคงมีปริมาณแป้งซึ่งเป็นอาหารโปรดของมอด

“สมัยแม่สาว ๆ ค่าแรงทำตับจากได้ร้อยละสิบสลึง (2.50 บาท) พอมายุคเรา ยุคผู้ใหญ่เอ ได้ร้อยละ 13 บาท คนที่คล่อง ๆ วันหนึ่งทำได้ 200 – 300 ตับ ยุคแม่ใช้วิธีขนตับจากใส่เรือไปขาย พอยุคเรามีถนนแล้วก็ขนใส่สิบล้อ ทำแล้วยังไม่ได้เงินเลย ต้องรอให้พ่อค้ามารับของก่อน แต่คนสมัยก่อนเขาอยู่ได้เพราะออกหาปลาทุกวัน” พี่อ้วนเล่า

รายได้จากการใช้ต้นจาก ไม่ได้มีแค่การนำใบมาทำตับมุงหลังคา แต่ยังมียอดอ่อน ซึ่งหมายถึงใบที่ยังไม่แตกเป็นทาง นำมาทำแห้งเป็นมวนยาสูบ ใบสดใช้ห่อข้าวต้มมัด ส่วนขนมจากนั้นต้องใช้ใบแก่ พอปิ้งไฟแล้วถึงจะหอม พอถึงหน้าลูกจาก ซึ่งออกประมาณปลายปี (เดือนพฤศจิกายน) ก็จะนำมาเชื่อมใส่โหลเก็บไว้เป็นขนมให้ลูก ๆ ได้กินนาน ๆ ชาวบ้านจะจำหน้าลูกจากออกได้แม่น เพราะตรงกับเทศกาลแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ

โหม่งจาก หรือ ทะลายจาก ชาวบ้านนิยมผ่าเอาเนื้่อข้างในของผลจากไปทำขนมลูกจากลอยแก้ว
โหม่งจาก หรือ ทะลายจาก ชาวบ้านนิยมผ่าเอาเนื้่อข้างในของผลจากไปทำขนมลูกจากลอยแก้ว

ลูกจากมีลักษณะเป็นทะลาย เรียกว่า โหม่งจาก โหม่งหนึ่งมีลูกจากย่อยกว่า 20 ลูก การตัดโหม่งจากก็ต้องรู้จักสังเกตสี “ถ้าตัดที่แก่มากก็กินสดไม่ได้ เอามาเชื่อมก็แข็งไป เขาก็จะเอามาปั่นละเอียดแล้วค่อยเชื่อมกับน้ำตาล อย่าว่าแต่สูตรนี้หากินยากแล้วเลย ลูกจากอ่อน ๆ หรือลูกจากเชื่อมก็หากินยากแล้ว” ป้าเขียวบอก

ดอกจาก (ส่วนที่อยู่กับโหม่งจาก) จะนำมาตัดเป็นท่อน ต้มหลาย ๆ น้ำให้หายฝาด แล้วค่อยฉีกเอามาแกง หรือฉีกแล้วม้วนเป็นคำ ราดกะทิ กินกับน้ำพริกเผาหรือน้ำพริกมะนาว เป็นกับข้าวพื้นบ้านที่ทุกวันนี้หากินยาก เช่นเดียวกับลูกจากเชื่อม

“ถ้าจะให้หาต้นจากตอนนี้ ก็ยังพอหาได้ แต่ไม่มีคนเข้าไปตัดแล้ว บางหมู่เขายังมีคนทำเป็นอาชีพ แต่หมู่ 2 ของเราไม่มีแล้ว” ป้าเขียวบอกว่าตัวเองก็เลิกทำเป็นรายได้นานแล้ว “สำหรับคนทำจากนะ เห็นจากตกโขมงไม่ได้ ต้องตัด ไม่งั้นจากไม่งาม”

ตกโขมง เป็นภาษาคนบางปะกง หมายถึง ใบจากแก่ที่ออกเหลืองและแห้ง ปล่อยทิ้งไว้ก็ทำให้ป่าจากดูโทรม “เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำ พอเห็นมันตกโขมงแล้วก็เสียดาย”

แม้จะไม่เหลือคนทำจากที่บ้านล่างแล้ว แต่จากก็ไม่เคยจางที่บางปะกง

TAGS #คนกับจาก #จากไม่จางที่บางปะกง #อยู่ดีกินดี #วิถีริมแม่น้ำ #บางปะกง #หาอยู่หากิน #น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

*บทความวิจัย: ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากต้นจากในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (Local Wisdom of Nipa Palm Utilization in Chachoengsao Province) บุญยอด ศรีรัตนสรณ์, วงเดือน ไม้สนธิ์. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์. 23 มีนาคม 2566

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/BSJ/article/download/258638/176621/1007868

Share:

น้ำปลาหวานสูตรอาม่า เครื่องจิ้มรสมือแม่จากชลบุรี ใช้หัวน้ำปลาหมักเอง กุ้งแห้งบางปะกง หวาน
ท่าข้าม จุดหมายเชิงนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง ชุมชนอาหารพื้นบ้านที่ไม่ควรพลาด ลิ้มรสปลากดหัวอ่อนหมกกะปิ แกงส้มหน่อไม้ดอง
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”

ส่งข้อความถึงเรา

Tags
Bombaceaceae Durio zibethinus กลุ่มครัสเตเชียน (Crustacea) กะปิสองคลอง กะปิเคย กินตามน้ำ ของดีบางปะกง ขอฝน ต้นจาก ที่นี่บ้านเรา ทุเรียนปราจีนแท้ ธรรมชาติ นายก อบต.คลองตะเกรา นายบุญนาค พรพจน์ธนมาศ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า บั้งไฟ บั้งไฟฉะเชิงเทรา บั้งไฟท่าตะเกียบ บั้งไฟบ้านหนองคอก บางปะกง ป่าจาก ป่าชายเลน ผลไม้ ผีแถน พายเรือทวนน้ำ มะระขี้นก ยั่งยืน ลาลูแบร์ วงศ์นุ่น-ทุเรียน วิถีริมแม่น้ำ ศักดิ์ปากหมา สยาม หลวงพ่อโสธร หาอยู่หากิน อยุธยา อยู่ดีกินดี อยู่ดีกินดีที่แม่น้ำบางปะกง เคย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แชร์โลมา แม่น้ำ แม่น้ำบางปะกง โลมาหัวบาตร โลมาอิรวดี ใบจาก
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อาศัยในแม่น้ำบางปะกง กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการทำประมงและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การอนุรักษ์และบทบาทของโลมาในระบบนิเวศปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า แต่จำนวนโลมาอิรวดีลดลงเหลือเพียง 22 ตัว จากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลน
คนบางปะกงใช้ความรู้จากความเข้าใจธรรมชาติเพื่อจัดการชีวิตทั้งเรื่องการอยู่การหากิน โดยไม่ขืนครรลองธรรมชาติ ภูมิปัญญานี้เรียกว่า “นาขาวัง”
เคยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล มีความสัมพันธ์ระหว่างเคยกับความหลากหลายทางชีวภาพ การประมงความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ประมงพื้นบ้านมีความรู้ในการทำปะการังเทียมมานานหลายพันปีแล้ว องค์ความรู้นี้พบเห็นได้ในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก ชาวประมงจะใช้โครงสร้างไม้ไผ่ และใบปาล์ม หรือทางมะพร้าว สะกันไว้เป็นห้องๆ เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำ อุปกรณ์แบบนี้ถ้าเป็นคนประมงบ้านเราแถวอ่าวไทยตอนบน อย่างเช่น คนบางปะกง
จอมยุทธ์หนึ่งเดียวในชุมชนคลองหัวจาก ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงตัวด้วยป่าจากจนทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี และยังทำหน้าที่สางป่าให้อยู่ในสภาพที่ไม่ตกขโมง